ในงาน”สปช. รายงานประชาชน…เปลี่ยนประเทศไทยกับสปช. “ จัดโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ สรุปผลงานและส่งมอบวาระการปฏิรูป 37 ประเด็น และ 6 วาระพัฒนา แก่รัฐบาลตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557นั้น คณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชงแผนแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันแบบครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ “3 ป.” ปลูกฝัง ป้องกันและปราบปราม ชูโครงการคนไทยไม่โกง 3 แนวทาง 7 กลุ่มเป้าหมาย เพื่อไม่ให้คนโกงมีที่ยืนในสังคม เสนอปรับใหญ่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาคอขวด เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ตั้งศาลคดีทุจริตและติดตามเอาทรัพย์สินที่ถูกโกงไปกลับคืนมาและเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้โดยเร็ว ส่วนมาตรการป้องกัน เน้นสร้างธรรมาภิบาลในสังคม ปรับแก้กฎหมายให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสาธารณะได้สะดวกละรวดเร็วขึ้น และมีส่วนในการตรวจสอบอำนาจรัฐ
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ เลขานุการคณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ในการนำเสนอประเด็นปฏิรูปประเทศไทย ในด้านกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบและการบังคับใช้กฎหมาย วิทยากรจากคณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รายงานว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเปรียบเหมือนมะเร็งร้ายที่กัดกิน และสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับประเทศชาติ ปัญหาที่สั่งสมมาเป็นเวลายาวนานนี้ได้สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศปีละหลายแสนล้านบาท และที่ประเมินไม่ได้อีกมหาศาล อีกทั้งแพร่หลายไปทั่วทุกระดับทุกวงการ ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม มีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม และส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์การแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในระดับคะแนนที่ต่ำมาโดยตลอด จึงจำเป็นต้องมีแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ ครบวงจร และเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ กรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ออกแบบพิมพ์เขียวการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน เป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้ สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและบริบทของสังคมไทย โดยมีหลักยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ 1. ยุทธศาสตร์การปลูกฝัง “คนไทยไม่โกง” เพื่อปฏิรูป “คน” ให้มีจิตสำนึกและสร้างพลังร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน 2. ยุทธศาสตร์การป้องกันด้วยการเสริมสร้างสังคมธรรมาภิบาล เพื่อปฏิรูประบบและองค์กรเพื่อสร้างธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วน 3. ยุทธศาสตร์การปราบปราม เพื่อปฏิรูประบบและกระบวนการจัดการต่อกรณีการทุจริตคอร์รัปชั่นให้มีประสิทธิภาพ
ในด้านการปลูกฝัง กรรมาธิการฯเสนอให้ใช้ยุทธศาสตร์ “คนไทยไม่โกง” 3 แนวทาง 7 กลุ่มเป้าหมายโดยยุทธศาสตร์ “คนไทยไม่โกง” เป็นแนวคิดที่มี “คน” เป็นศูนย์กลางของการปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหา คน เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา เพราะถ้าคนในสังคมส่วนใหญ่มีจิตสำนึกที่ดี ไม่ยอมรับพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชัน การทุจริตคอร์รัปชันก็จะเกิดขึ้นได้ยาก ใครที่ทุจริตโกงกินก็จะถูกรังเกียจและลงโทษทางสังคม (Social sanction) ทำให้ไม่มีที่ยืนในสังคม นอกจากนั้นต้องแก้ที่วิธีคิดของคนโดยตรง ให้คนมีภูมิต้านทานต่อโอกาสและการยั่วยุให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน เป็น “คนไทยไม่โกง” ที่นอกจากตนเองไม่โกงแล้ว ยังจะไม่ยอมให้ผู้อื่นโกงอีกด้วย
สำหรับกรอบการขับเคลื่อน “คนไทยไม่โกง” ประกอบด้วย 3 แนวทาง 7 กลุ่มเป้าหมาย โดยในส่วนที่เป็นแนวทางสามแนวทาง ได้แก่ 1.สร้างจิตสำนึกที่ตัวบุคคล เริ่มต้นทำให้คนมีจิตสำนึกที่ถูกต้อง รู้ผิดชอบชั่วดี อะไรควรทำไม่ควรทำ ตระหนักถึงผลเสียหายร้ายแรงของการทุจริตคอร์รัปชัน 2.สร้างเครือข่ายและกลไกเชิงสถาบันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนที่มีจิตสำนึก ให้มีระบบและกลไกให้ปัจเจกบุคคลที่มีจิตสำนึกได้เชื่อมโยงสัมพันธ์กันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สร้างพื้นที่ให้คนดีมีที่ยืนในสังคม 3.สร้างพลังคุณธรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคมในภาพใหญ่ ด้วยการส่งเสริมและสร้างกลไกบางประการที่ทำให้เครือข่ายของผู้ที่มีจิตสำนึกรักความถูกต้องนี้มีพลัง เป็นกลไกตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อรักษาประโยชน์ของสาธารณะ สร้างพลังต่อต้าน และลงโทษทางสังคมต่อผู้กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น
ส่วนกลุ่มเป้าหมายหลักในการปฏิรูป 7 กลุ่ม ประกอบด้วย เด็กและเยาวชน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และพรรคการเมือง ธุรกิจเอกชน สื่อมวลชน ประชาสังคม และประชาชนทั่วไป
ในส่วนยุทธศาสตร์ในการปราบปราม จำเป็นต้องมีการเร่งรัด และพัฒนากระบวนการการทำงานขององค์กรอิสระที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนการทุจริตคอร์รัปชันให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันควร สามารถเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเกรงกลัวไม่กล้าที่จะกระทำการทุจริตคอร์รัปชัน
“กระบวนการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนและคดี ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีมีประสิทธิภาพ สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว ต้องลดภาวะคอขวด โดยเพิ่มบทบาทของสำนักงานป.ป.ช.ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนและคดีให้มากขึ้น และจะต้องจับปลาตัวใหญ่ให้ได้เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับคนอื่น ๆ”
นอกจากนั้นควรมีการจัดตั้งศาลคดีทุจริต และตรากฎหมายติดตามทรัพย์สินของแผ่นดินคืนจากการทุจริตด้วย เพื่อให้สามารถลงโทษคนโกงได้ในเวลาที่ไม่ชักช้า และสามารถติดตามทรัพย์สินที่โกงไปได้ ไม่ว่าจะตกไปอยู่ในมือใคร หรือจะนานแค่ไหนก็ตาม
สำหรับยุทธศาสตร์การป้องกัน เน้นการปฏิรูปด้วยการเสริมสร้างสังคมธรรมาภิบาล เพื่อเป็นระบบป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันเสมือนสร้างระบบภูมิต้านทานแก่ทุกภาคส่วนในสังคมโดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องมีหลักธรรมาภิบาล อาทิเช่น การสร้างความโปร่งใสในการกำหนดกฎเกณฑ์กติกา กระบวนการ ขั้นตอนการดำเนินงาน การเข้าถึงข้อมูล การเสริมสร้างกลไกสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน การลดการใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และการขจัดโอกาสการทุจริตด้วยการตรวจสอบ จับกุม ลงโทษอย่างเคร่งครัดและจริงจัง
ความโปร่งใส และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะโดยสะดวกและรวดเร็ว ประกอบกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอำนาจรัฐจะช่วยป้องกันปัญหาการทุจริตได้มาก เพราะถึงที่สุดแล้ว ถ้าประชาชนพลเมืองไม่ยอม การทุจริตก็จะเกิดขึ้นได้ยาก
___________________________