กลุ่มทรู ร่วมกับ สวทศ. มอบรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ‘นักวิทย์น้อยทรู’ ปีที่ 23

0
510
image_pdfimage_printPrint

กลุ่มทรู ร่วมกับ สวทศ. มอบรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ‘นักวิทย์น้อยทรู’ ปีที่ 23 ให้กับโรงเรียนวัดพุฒิปรางค์ปราโมทย์ จ.นนทบุรีโครงงาน ‘วัสดุกันกระแทกจากพืชในท้องถิ่น’ จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2561

สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย โดย รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ (แถวยืน กลาง) นายกสมาคมฯ ร่วมกับ กลุ่มทรู โดย นายประพาฬพงษ์ มากนวล (แถวยืน ที่3จากซ้าย) รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม มอบรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ‘นักวิทย์น้อยทรู’ แก่ผู้ชนะการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2561 หัวข้อ ‘โครงงานวิทยาศาสตร์สร้างสรรค์นวัตกรรม’ ซึ่งในปีนี้มีนักเรียนส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 141 โครงงาน จาก 39 จังหวัดทั่วประเทศ โดยทั้ง 10 โครงงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ต้องนำเสนอผลงานด้วยวาจาต่อหน้าคณะกรรมการ เพื่อเฟ้นหานักวิทย์น้อยทรูที่สร้างสรรค์นวัตกรรมยอดเยี่ยม ซึ่งโครงงานที่ชนะเลิศเหรียญทอง ได้แก่ โครงงานวัสดุกันกระแทกจากพืชในท้องถิ่น จากนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดพุฒิปรางค์ปราโมทย์ จ.นนทบุรี โดย ด.ญ.กันยกร คล้ายเรือง (แถวนั่ง กลาง) ด.ญ.สุพิชฌาล์ วิราวุฒิ (แถวนั่ง ซ้าย)

และด.ญ.พบพร สภาพักตร์ (แถวนั่ง ขวา) ได้รับรางวัลเหรียญทอง ทุนการศึกษา และโล่เกียรติยศ พร้อมชุดอุปกรณ์และสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ในโครงการทรูปลูกปัญญา ณ ห้องเรนโบว์ ฮอลล์ โรงแรมใบหยกสกาย
โดยการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ โครงงานประเภทสำรวจ โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ และโครงงานประเภททดลอง โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6

ทั่วประเทศ ให้มีทักษะการทำโครงงานวิทยาศาสตร์คือมีทักษะการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผลงาน สามารถสืบค้นหาข้อมูล มีกระบวนการคิด การทดลอง การแก้ไขปัญหา การวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม ด้วยการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต

‘โครงงานวัสดุกันกระแทกจากพืชในท้องถิ่น’ เป็นโครงงานประเภททดลอง โดยนำพืชในท้องถิ่น เช่น กาบกล้วย ธูปฤาษี ผักตบชวา และใบเตยหอม ซึ่งมีความหนาแตกต่างกัน นำมาปั่นให้ได้เส้นใยจากพืช แล้วนำไปผสมกาวที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวจ้าว กาวลาเท็กซ์ และน้ำยางพารา โดยเส้นใยจากกาบกล้วย จะมีสีน้ำตาลอ่อน ธูปฤาษี จะได้เส้นใยขนาดใหญ่สีเขียว ส่วนเส้นใยจากผักตบชวา และจากใบเตยหอมจะเป็นสีเขียวเข้ม

จากนั้นลองนำมาทดลองห่อไข่ไก่ พบว่าเส้นใยจากกาบกล้วยสามารถกันกระแทกได้ดีที่สุด และยังนำไปห่อผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล มะละกอ ฯ ซึ่งสามารถกันกระแทกและมีคุณภาพเทียบเท่าวัสดุกันกระแทกจากพลาสติกตามท้องตลาดได้เป็นอย่างดี เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ลดขยะ ลดภาวะโลกร้อน เพราะนำกลับมาใช้รีไซเคิลอีกได้ด้วย