1

กลุ่มทรู รายงานผลกำไร 7 พันล้านบาทในปี 2561 พร้อมประกาศจ่ายปันผล 3 พันล้านบาท

กลุ่มทรู รายงานผลกำไร 7 พันล้านบาทในปี 2561 พร้อมประกาศจ่ายปันผล 3 พันล้านบาท

บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (SET: TRUE) รายงานผลกำไรจำนวน 7 พันล้านบาท ในปี 2561 เป็นผลจากการเติบโตของรายได้และ EBITDA รวมถึงมาตรการบริหารต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพ ตลอดจนการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 3 พันล้านบาท คิดเป็น 0.09 บาทต่อหุ้น โดยจะนำเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายนนี้

รายได้จากการบริการโดยรวมของกลุ่มทรูในปี 2561 มีจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1.018 แสนล้านบาท เติบโตร้อยละ 4.9 จากปีก่อนหน้า หรือร้อยละ 7.7 หากไม่รวมรายได้จากสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานที่สิ้นสุดลงในปลายปี 2561 อันเป็นผลจากการเติบโตของทั้งธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต รายได้ที่เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ และกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) ส่งผลให้ EBITDA เติบโตสูงร้อยละ 40.3 จากปีก่อนหน้า เป็น 5.6 หมื่นล้านบาทในปี 2561 ทั้งนี้ หากไม่รวมธุรกรรมการขายสินทรัพย์ให้แก่ DIF และการสิ้นสุดสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐาน EBITDA เติบโตประมาณร้อยละ 10% จากปีก่อนหน้า เป็น 3.6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผล ยืนยันเจตจำนงค์ในการจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอนุมัติการเพิ่มวงเงินหุ้นกู้สำหรับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อลดต้นทุนทางการเงินและช่วยปรับสมดุลการออกหุ้นกู้ของบริษัทฯ และบริษัทย่อย

ปี 2561 ถือเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ที่รายได้จากการให้บริการของทรูมูฟ เอช มีอัตราการเติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรม เป็นผลจากเครือข่ายประสิทธิภาพสูง ความสำเร็จในการทำการตลาดเจาะในแต่ละพื้นที่มากยิ่งขึ้น และการเสริมความแข็งแกร่งผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งด้านดีไวซ์ ช่องทางการขาย สิทธิประโยชน์และการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยในปี 2561 ทรูมูฟ เอช มีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิ 2 ล้านราย ส่งผลให้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 29.2 ล้านราย และผลักดันให้รายได้จากการให้บริการเติบโตร้อยละ 7.3 จากปีก่อนหน้า ในขณะที่ผู้ให้บริการรายใหญ่รายอื่นมีรายได้จากการให้บริการรวมกันลงร้อยละ 0.1 จากปีก่อนหน้า ทรูมูฟ เอช จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากการมุ่งเน้นนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงโอกาสในการเติบโตอย่างมากจากการรุกการขายไปยังพื้นที่ซึ่งทรูมูฟ เอช ยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่สูงนัก

ทรูออนไลน์ นำเสนอบริการคุณภาพสูงและคุ้มค่าให้แก่ลูกค้า โดยเฉพาะแพ็กเกจ FTTH และ 1Gbps คอนเวอร์เจนซ์ รวมถึงแพ็กเกจเฉพาะกลุ่มเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น อาทิ แพ็กเกจเกม ซึ่งข้อเสนอที่คุ้มค่าเหล่านี้ได้รับผลตอบรับที่ดีจากตลาด ทำให้ทรูออนไลน์เติบโตในอัตราเลขสองหลักจากปีก่อนหน้าทั้งด้านรายได้และฐานลูกค้าในปี 2561 อีกทั้งโครงข่ายและบริการของทรูออนไลน์ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจในการใช้งานอินเทอร์เน็ตรับส่งข้อมูลอย่างมหาศาลมากขึ้น ทำให้ทรูออนไลน์พร้อมรองรับการเติบโตของตลาดบรอดแบนด์ที่จะขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี สำหรับในปี 2561 จำนวนลูกค้าบรอดแบนด์ของทรูออนไลน์ เพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 332 พันราย ขยายฐานลูกค้าเป็น 3.5 ล้านราย ส่งผลให้รายได้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตโดยรวมเติบโตร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ทรูวิชั่นส์ ยังคงมุ่งมั่นที่จะนำเสนอคอนเทนต์คุณภาพสูงผ่านแฟลตฟอร์มที่หลากหลายของกลุ่มทรู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง OTT และดิจิทัลแพลตฟอร์ม “ทรูไอดี” ช่วยเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคในการเข้าถึงคอนเทนต์ได้ทุกที่ทุกเวลามากยิ่งขึ้น ในปี 2561 รายได้จากการให้บริการของทรูวิชั่นส์เติบโตร้อยละ 8.7 จากปีก่อนหน้า เป็น 1.33 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจากรายได้ของธุรกิจบันเทิง รวมถึงการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งไม่เพียงเพิ่มรายได้ แต่ยังส่งผลให้ฐานผู้ใช้แอปพลิเคชั่นทรูไอดีเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ทรูวิชั่นส์ยังเล็งเห็นโอกาสการเติบโตจากธุรกิจผลิตคอนเทนต์ จึงเดินหน้าพัฒนาคอนเทนต์คุณภาพมาตรฐานระดับสากลด้วยการสนับสนุนจากผู้ผลิตคอนเทนต์ระดับโลก เพื่อรองรับทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ และยังเพิ่มโอกาสในการเติบโตของรายได้ให้กับกลุ่มทรูวิชั่นส์ โดย ณ สิ้นปี 2561 ทรูวิชั่นส์มีฐานลูกค้ารวมเพิ่มขึ้นเป็น 4.1 ล้านราย

นอกเหนือจากการเสริมความแข็งแกร่งให้กับทั้งสามธุรกิจหลักแล้ว กลุ่มทรูยังให้ความสำคัญและมุ่งพัฒนาธุรกิจด้านดิจิทัลและนวัตกรรม รวมถึงการสร้างระบบนิเวศครบวงจรเชื่อมโยงบริการหลากหลายภายใต้กลุ่มทรูและเน้นสิทธิประโยชน์ของการเป็นลูกค้ากลุ่มทรู โดยเฉพาะดิจิทัลแพลตฟอร์ม “ทรูไอดี” ซึ่งมียอดดาวน์โหลดมากที่สุดในหมวดหมู่เดียวกันในปี 2561 แอปพลิเคชั่นทรูไอดีรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพสูงที่หลากหลาย สิทธิประโยชน์พิเศษภายใต้ทรูยู เช่น การสะสมและแลกทรูพอยท์ รวมถึงระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ทรูไอดีเริ่มมีรายได้จากการโฆษณาทางดิจิทัล และจะเสนอขายคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ตรงใจผู้บริโภคได้ในอนาคต นอกจากนี้ บริษัทฯยังคาดว่า Internet of Things หรือ IoT จะเป็นบริการที่ขับเคลื่อนรายได้อย่างมีนัยสำคัญให้กับกลุ่มทรูต่อไป ด้วยความต้องการในการเชื่อมต่อที่มีอย่างมหาศาล (massive connectivity) และโซลูชัน IoT มีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มทรูยังปรับเปลี่ยนองค์กรให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมากขึ้น โดยนำ big data หรือ Analytics มาใช้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้าและความผูกพันของลูกค้าต่อกลุ่มทรู ส่งผลให้รายได้และรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายเพิ่มขึ้นต่อไป

นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร กล่าวว่า “กลุ่มทรูมีความก้าวหน้าหลายด้านในปี 2561 ที่ผ่านมา สามารถสร้างผลกำไรที่เพิ่มขึ้นสูงเป็น 7 พันล้านบาท พร้อมประกาศจ่ายปันผลที่มากขึ้น แม้ว่าภาวะธุรกิจจะมีความท้าทาย แต่ธุรกิจหลักของเรายังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งมีอัตราการเติบโตของรายได้จากการให้บริการสูงกว่าอุตสาหกรรมเป็นเวลา 6 ปีติดต่อกัน ในขณะเดียวกัน บริษัทฯยังปรับองค์กรให้มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักด้านดิจิทัล พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านดิจิทัลและนวัตกรรมยุคใหม่ เพื่อให้ตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ เรายังยกระดับความยั่งยืนของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยให้ก้าวสู่ระดับสากลโดยได้รับคะแนนสูงสุดเป็นที่ 1 ของโลกในหมวดธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมสำหรับ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ในปี 2561 ด้วยความก้าวหน้าเหล่านี้และความมุ่งมั่นในการรักษาวินัยทางการเงิน ผมเชื่อมั่นว่ากลุ่มทรูจะเติบโตได้อย่างมั่นคงต่อเนื่อง”

ดร. กิตติณัฐ ทีคะวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กล่าวว่า “ความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการสร้างเครือข่ายประสิทธิภาพสูง การให้บริการที่ดีเยี่ยม และการมุ่งเน้นสร้างผลกำไร เห็นผลชัดเจนมากขึ้น โดยกลุ่มทรูมีผลกำไรที่เติบโตสูงในปี 2561 และธุรกิจหลักของเราแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีอัตราการเติบโตของรายได้จากการให้บริการสูงกว่าอุตสาหกรรมถึง 6 ปีติดต่อกัน ธุรกิจบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ตที่ยังคงรักษาความเป็นผู้นำด้วยแพ็กเกจ FTTH และ 1 Gbps ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด ในขณะที่ คอนเทนต์คุณภาพสูงของทรูวิชั่นส์ได้ถูกใช้ประโยชน์ผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลายของกลุ่มทรู นอกจากนี้ กลุ่มทรูยังเสริมความแข็งแกร่งให้กับการเป็นผู้นำด้านดิจิทัลด้วย “ทรูไอดี” ซึ่งเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มของกลุ่มที่รวมทุกบริการไว้ในแอปพลิเคชั่นเดียว ทั้งคอนเทนต์ ไลฟ์สไตล์ และสิทธิประโยชน์ที่หลากหลาย จนกลายเป็นแอปพลิเคชั่นที่ได้รับการดาวน์โหลดมากที่สุดในหมวดหมู่เดียวกันในปี 2561 ที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของผู้บริโภคและเพิ่มความผูกพันของลูกค้าต่อกลุ่มทรูมากยิ่งขึ้น ผมมั่นใจว่า กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมถึงนวัตกรรมและช่องทางการเข้าถึงลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้กลุ่มทรูขยายตลาดเพิ่มได้ต่อเนื่อง พร้อมสำหรับการเติบโตด้วยรากฐานด้านการเงินที่แข็งแกร่งต่อไป”