กลุ่มคราฟต์เบียร์แนะรัฐ ชี้ภาษียังลักลั่น รายเล็กยังเกิดยาก

0
3153
image_pdfimage_printPrint

คราฟต์เบียร์ชี้กฎหมายใหม่ที่ออกมายังไม่ตอบโจทย์ ยังมีช่องว่าง ไม่ส่งเสริมรายเล็ก ใช้มุมมองต่อผลิตภัณฑ์ไม่เปลี่ยนจากในอดีต ภาษียังคงเป็นปัจจัยหลัก แนะรัฐไม่ส่งเสริมก็ไม่ควรขัดขวาง โวยรายเล็กยังเกิดยากรายใหญ่ยังได้ประโยชน์ ชี้กฎหมายต้องปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยเพื่อตอบสนองสังคม ที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ กรรมการ บริษัท ไอเอสทีบี จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเบียร์ไทยและต่างประเทศเจ้าของคราฟต์เบียร์แบรนด์ไลเกอร์และอัลเลมองท์ กล่าวว่าจากการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎหมาย 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับอัตราการเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตสุรา พิกัดอัตราภาษี-อากรแสตมป์ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 นั้นมองว่ามีบางส่วนใหม่แต่บางส่วนก็ไม่มีการปรับเปลี่ยนยังคงมีช่องว่างในเรื่องการกำหนดกำลังการผลิตอยู่ เพราะหากมองในโมเดลทางการเงินนั้น ข้อกำหนดในเรื่องกำลังการผลิตในเชิงธุรกิจยังไม่ได้ส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กอยู่ได้ ในส่วนภาษียังคงยึดแนวทางเดิม ทำให้ภาษีดูไม่เป็นสากล เทียบง่ายๆ ระหว่างเบียร์กับสุราชุมชนค่อนข้างชัดว่าต้องการส่งเสริมสุราชุมชน แต่สำหรับเบียร์นั้นมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยมานับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

“อัตราภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เราก็ยังคิดในแบบของเราไม่ได้ใช้แบบแอลกอฮอล์ดีกรีตามหลายๆประเทศ ยังคงมองภาษีเป็นภาษีบาปทั้งๆ ที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์หลายๆ ประเทศในโลกใช้เป็นเครื่องมือในการดึงคนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศรวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการรับประทานอาหาร แม้นภาครัฐไม่ส่งเสริมก็ไม่ควรขัดขวาง อย่างกฎหมายล่าสุดที่ออกมา ผมมองว่าบางเรื่องค่อนข้างดูลักลั่นและตลก ในการกำหนดว่าการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อการบริโภคเอง โดยมิได้จำหน่าย แต่จัดเก็บภาษีเพราะไม่มีประเทศใดในโลกที่เก็บภาษีสำหรับการผลิตเพื่อการบริโภคเอง” นายอาชิระวัสส์ กล่าว

นายกาญจน์ เสาวพุทธสุเวช ผู้ผลิตเบียร์สเปซคราฟต์ กล่าวว่าจากอัตราภาษีดังกล่าว ยังมีความลักลั่น มีผลกระทบกับรายใหม่และรายเล็กอย่างมาก เพราะพื้นฐานโครงสร้างภาษีแม้จะมองว่ายุติธรรม แต่ต้องมีพื้นฐานภาษีที่เท่ากันก่อน แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดนั้นเจ้าใหญ่และเจ้าเก่ามักได้ประโยชน์มากกว่าเสมอ ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์และรายเล็กๆ ถือเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างที่อเมริกาเมื่อแก้กฎหมายผู้ผลิตเบียร์นั้น ทำให้เกิดรายเล็กๆ จำนวนมาก และนั่นส่งผลให้เศรษฐกิจแข็งแกร่ง แต่ในประเทศไทยเมื่อเข้าไปในซุปเปอร์มาร์เก็ต ก็จะพบว่าสุราและเบียร์ต่างประเทศมีเยอะมากเพราะกฎเกณฑ์ของภาครัฐไม่เอื้อต่อผู้ผลิตในเมืองไทย

 “เราต้องยอมรับก่อนว่าแอลกอฮอล์ไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย เมื่อเป็นเช่นนั้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องตอบสนองความต้องการของสังคมและประชาชน ที่สำคัญต้องมีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย, เทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพราะบางทีกฎหมายที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนก็ไม่สนับสนุนให้ทำธุรกิจอย่างถูกกฎหมาย การพัฒนากฎหมายนั้นมีส่วนสำคัญในการทำธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้เติบโต เราต้องยอมรับพฤติกรรมผู้บริโภคของแต่ละชาติต่างกัน ในหลายๆ ชาติมองว่าแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์คืออาหาร” นายกาญจน์ กล่าวอีกว่าในบางกฎเกณฑ์ที่ออกมามีทั้งคนที่ทำถูกกฎหมายและทำผิดกฎหมาย อย่างเช่น บนถนนเส้นทางหนึ่งที่มีกำหนดให้ขับขี่ไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแต่ก็ยังมีคนขับขี่เกินกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่ต่างจากในกลุ่มธุรกิจหลายๆ กลุ่มธุรกิจที่มีทั้งทำถูกกฎหมายและทำผิดกฎหมาย ส่วนสำคัญหนึ่งในการตัดสินใจนั้นกฎหมายก็มีส่วนในการตัดสินใจ