กล้องตรวจวัดความเร็วที่สนับสนุนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเครือข่าย 50 เมืองทั่วโลก
เรื่องโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ (Partnership for Healthy Cities)
ซึ่งจะช่วยประเมินพฤติกรรมเสี่ยง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน
(20 สิงหาคม 2561, นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ได้ประกาศติดตั้งกล้องตรวจวัดความเร็วจำนวน 10 ตัว บริเวณ 3 พื้นที่ของกรุงเทพมหานครที่มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุสูง โดยกรุงเทพมหานครได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งใน 54 เมือง ของโครงการเครือข่าย 50 เมืองทั่วโลก เรื่องโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ (Partnership for Healthy Cities) ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies) ซึ่งแต่ละประเทศที่เข้าร่วมโครงการฯ จะเลือกดำเนินงานเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากทั้งหมดสิบเรื่องที่กำหนดไว้โดยโครงการฯ โดยทั้งสิบเรื่องนี้ ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกว่า เป็นเรื่องที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันผู้คนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อันเป็นเหตุให้เกิดโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ
จากรายงานสถานการณ์โลกเรื่องความปลอดภัยทางถนน ปี 2558 (Global Status Report on Road Safety) ที่จัดทำโดยองค์การอนามัยโลก พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดย โดย 83% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย คือ กลุ่มผู้ที่มีความเปราะบางในการสัญจร อันได้แก่ คนเดินเท้า ผู้ขับขี่รถจักรยาน และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยคิดเป็นอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 49% นอกจากนี้ ข้อมูลจากกล้องตรวจวัดความเร็วที่สนับสนุนโดยโครงการฯ ในช่วงต้น ยังเผยให้เห็นว่า 1 ใน 5 ของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ใช้ความเร็วในการขับขี่เกินกว่ากำหนดอีกด้วย
นางสาวเคลลี่ ลาร์สัน หัวหน้าโครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก โดยมูลนิธิบลูมเบิร์ก
เพื่อสาธารณประโยชน์ (BIGRS) และโครงการเครือข่าย 50 เมืองทั่วโลก เรื่องโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ (Partnership for Healthy Cities) กล่าวว่า “มูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ ได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งกรุงเทพมหานครได้แสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนของกรุงเทพฯ อย่างจริงจัง และการติดตั้งกล้องตรวจวัดความเร็วนี้เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งมูลนิธิฯ คาดหวังที่จะสานต่อความร่วมมือนี้ ด้วยการใช้ข้อมูลจากกล้องตรวจวัดความเร็วเหล่านี้ ในการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน”
นางสาวแอเรียลา โรจานี ผู้อำนวยการ โครงการเครือข่าย 50 เมืองทั่วโลกเรื่องโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ (Partnership for Healthy Cities) จากองค์กรไวทัล สแตรทีจีส์ (Vital Strategies) กล่าวว่า “การขับขี่ด้วยความเร็ว เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักของการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลก การที่กรุงเทพมหานครตัดสินใจใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาช่วยประเมินปัญหาดังกล่าว จะเป็นการส่งเสริมการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนอื่นๆ อย่างเช่น การรณรงค์เรื่องหมวกนิรภัยและเรื่องเมาแล้วขับ พวกเราขอชื่นชมกรุงเทพมหานคร ที่นำข้อมูลที่จัดเก็บนี้มาใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการขับขี่ด้วยความเร็ว ซึ่งจะมีส่วนช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้เป็นจำนวนมาก”
ทั้งนี้ พื้นที่ติดตั้งกล้องตรวจวัดความเร็ว ได้แก่ พื้นที่เขตลาดกระบัง บริเวณถนนฉลองกรุง ซอยฉลองกรุง 33 (ทิศทางไป-กลับ); พื้นที่เขตลาดกระบัง บริเวณถนนร่มเกล้า ซอยร่มเกล้า 50 (ทิศทางไป-กลับ); และพื้นที่เขตประเวศ บริเวณถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอยเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอย 12 (ทิศทางไป-กลับ)
ภายใต้ความร่วมมือนี้ เมืองต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะทำงานร่วมกับมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ องค์การอนามัยโลก และองค์กรไวทัล สแตรทีจีส์ เพื่อดำเนินงานตามแนวทางที่จะรักษาชีวิตผู้คน และพัฒนาสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ในทุกๆ ด้าน ในการนี้ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 เมืองที่ร่วมโครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก โดยมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ (BIGRS) จะใช้กล้องตรวจวัดความเร็วที่ติดตั้งใหม่เหล่านี้ ในการเก็บข้อมูลต่างๆ ซึ่งนอกเหนือจากข้อมูลพื้นฐานแล้ว ก็จะมีการเก็บข้อมูลอื่นๆ เช่น ยานพาหนะประเภทใดที่ขับขี่ด้วยความเร็ว และใช้ความเร็วเท่าไร เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแนวนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนน
การพัฒนารูปแบบการสื่อสารรณรงค์ และการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นอกจากนี้ การใช้กล้องตรวจวัดความเร็วดังกล่าวยังช่วยสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการขับขี่ด้วยความเร็วอีกด้วย
โรคไม่ติดต่อหรือที่เรียกว่าเอ็นซีดี (NCDs) ได้แก่ โรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเรื้อรัง และอาการบาดเจ็บต่างๆ รวมถึงอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปมากถึง 44 ล้านคนต่อปี คิดเป็นเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการเสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลก ทั้งนี้ ในยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเมือง เมืองต่างๆ จึงควรจะต้องมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานเพื่อรับมือกับโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บเหล่านี้ โดยวางนโยบายที่ทำให้เกิดการลดปัจจัยเสี่ยงทุกชนิดอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเครือข่าย 50 เมืองทั่วโลก เรื่องโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ (Partnership for Healthy Cities) ได้ที่เว็บไซต์ https://partnershipforhealthycities.bloomberg.org/
###
โครงการเครือข่าย 50 เมืองทั่วโลก เรื่องโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ
โครงการเครือข่าย 50 เมืองทั่วโลก เรื่องโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ (The Partnership for Healthy Cities) เป็นเครือข่ายระดับโลกที่มุ่งมั่นรักษาชีวิตผู้คนจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และการบาดเจ็บต่างๆ ซึ่งโครงการฯ นี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรไวทัล สแตรทีจีส์ ( Vital Strategies) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเมืองต่างๆ ทั่วโลก ให้สามารถนำเสนอนโยบายที่มีประสิทธิภาพสูงสุด หรือมีการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อในชุมชนเมืองต่างๆ ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://partnershipforhealthycities.bloomberg.org/
เกี่ยวกับองค์กร ไวทัล สแตรทีจีส์
องค์กร ไวทัล สแตรทีจีส์ (Vital Strategies) เป็นองค์กรด้านสุขภาพระดับโลกที่เชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องได้รับความคุ้มครองผ่านระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ทีมงานของเรานำกลยุทธ์การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ร่วมกับนวัตกรรมใหม่ เพื่อช่วยพัฒนาและดำเนินนโยบายทางสาธารณสุขที่เหมาะสม ตลอดจนมีการบริหารจัดการโครงการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างระบบการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ดำเนินการวิจัย และมีการออกแบบกลยุทธ์ในการสื่อสารรณรงค์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายและพฤติกรรมต่างๆ ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.vitalstrategies.org หรือ Twitter @VitalStrat