กระทรวงไอซีที ผนึก ATCI และสพฐ. เดินหน้าส่งเสริมการเข้าถึง ICTของเด็กไทยเตรียมพร้อมเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

0
324
image_pdfimage_printPrint

jpg17

กระทรวงไอซีที ผนึก ATCI และสพฐ. เดินหน้าส่งเสริมการเข้าถึง ICTของเด็กไทยเตรียมพร้อมเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ดึงพันธมิตรร่วมจัดโครงการ “Thailand ICT Youth Challenge 2015” ภายใต้แนวคิด “ICT For 21st Century Learning”

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MICT) ร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ (OBEC) เป็นเจ้าภาพร่วม จัดโครงการ “Thailand ICT Youth Challenge 2015” ค่ายเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด “ICT for 21st century learning” หวังกระตุ้นให้เยาวชนไทยที่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แสดงออกเรื่องความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ในรูปแบบของการแข่งขัน ด้วยโปรแกรมที่มีให้เลือกหลากหลายความถนัด โดยผลงานที่จัดทำขึ้นมาต้องนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง และพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กไทยเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 อย่างเท่าทัน ทั่วถึงและเท่าเทียม

แนวคิด ““ICT for 21st century learning” ในปีนี้ หมายถึงการแข่งขันแนวคิด การใช้ การฝึกทักษะของเยาวชนไทยระดับประเทศ ซึ่งเป็นทักษะที่มุ่งเน้นการนำเอาทักษะสำคัญข้อที่ 3 คือ ทักษะสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี โดยแบ่งการพัฒนาความรู้ ความสามารถออกเป็น 3 เป้าหมายคือ 1.ด้านสารสนเทศ (Information) มุ่งให้เยาวชนมีทักษะในการเข้าถึงและรู้แหล่งสารสนเทศได้อย่างรวดเร็ว ประเมินความน่าเชื่อถือของสารสนเทศและสามารถใช้อย่างสร้างสรรค์ 2.ด้านสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มุ่งให้เยาวชนมีทักษะการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสื่อสารโดยเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อเข้าถึงฐานความรู้ในสังคมเศรษฐกิจดิจิตทัลได้อย่างมีคุณภาพและคุณธรรม 3.ด้านสื่อ (Media) มุ่งให้เยาวชนมีทักษะในการเข้าถึง วิเคราะห์ ประเมินและสร้างสารในรูปแบบของสื่อต่างๆ อาทิ มัลติมีเดีย กราฟฟิต แอนนิเมชั่น เว็บไซต์ ฯลฯ ได้อย่างมีคุณภาพ

โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4-ป.6) มัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-ม.-3) และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4.ม.6) ทั่วประเทศ ได้ส่งผลงานเข้าประกวดตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ในหัวข้อการแข่งขันในช่วงชั้นต่าง ๆ คือ 1.นักเรียนชั้นประถมตอนปลาย (ป.4-ป.6) โปรแกรมพาวเวอร์พอยท์ หัวข้อ “ตามรอยพระราชา” (พระอัจฉริยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ) จำนวน 15 สไลด์ 2.นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-ม.3) ภาพยนตร์สั้น หัวข้อ “ประเทศไทยของเรา” ความยาวไม่เกิน 3 นาที 3.นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-ม.6) Mobile Application จำนวน 3 หมวดได้แก่ 1.เพื่อการศึกษา 2.เพื่อการท่องเที่ยว 3.สุขภาพหรือคุณภาพชีวิต โครงการนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีพันธมิตรมากมาย อาทิ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MICT) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สสวท.ยูเนสโก SEAMEO NECTEC สวทช. และ SIPA ร่วมด้วยองค์กรเอกชน อาทิเช่น บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) (DTAC),บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน),บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน),บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด

นายบุญรักษ์ สรัคคานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย กล่าวว่า “ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือช่องว่างและความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา แม้การศึกษาคือรากฐานสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ แต่ก็ยังมีความท้ายอีกหลายประการในสังคมการศึกษาโลกในศตวรรษที่ 21 นี้ โดยเฉพาะเรื่องทักษะต่างๆ มีความจำเป็นอย่างมากต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นในเยาวชน อันได้แก่ 1.ทักษะชีวิตและอาชีพ 2.ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม 3.ทักษะสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี ดังนั้น ATCI จึงร่วมกับพันธมิตรจัดทำโครงการ Thailand ICT Youth Challenge 2015 เป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด ICT for 21st Century Learning เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปิดโอกาสให้แก่เด็กและเยาวชนของไทยได้เรียนรู้ ICT มุ่งเน้นในทักษะข้อที่ 3 เพื่อก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม และได้เป็นกำลังสำคัญช่วยนำพาให้ประเทศชาติเจริญต่อไป”

“โครงการนี้จัดในรูปแบบของการแข่งขัน เปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนทั่วประเทศซึ่งเป็นกลุ่มฐานรากที่สำคัญ ได้เข้าถึง ICT อย่างมีประสิทธิภาพ การแข่งขันประกอบไปด้วยความหลากหลายของหัวข้อเทคโนโลยี ที่จะทำให้เยาวชนที่ร่วมโครงการได้มีความรู้ในการนำไปประยุกต์ใช้ มีโอกาสสัมผัสทดลองใช้เทคโนโลยีจริง เกิดการระดมสมองเพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคมของตนผ่านการใช้ ICT ที่อาจทำให้เกิดการตระหนัก การตื่นตัวและการใช้ ICT มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการสังเคราะห์ และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนและสังคมต่อไป เป็นการจุดประกายการใช้ไอซีทีในบริบทของเยาวชน เตรียมพร้อมสู่โลกการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่ไอทีและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันทุกขณะ”

นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า “กระทรวงฯ มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบนโยบายและแผนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะในยุคที่สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเข้าถึงข้อมูลด้านการศึกษา การค้นคว้า หรือการเรียนรู้ทางไกล มีความสำคัญและเป็นข้อได้เปรียบ สำหรับการเข้าร่วมสนับสนุนโครงการในครั้งนี้ เราต้องการเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ร่วมกับครูอาจารย์บุคลากรการศึกษา และสถานศึกษา ได้ร่วมพัฒนาทักษะการใช้สื่อดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ ขอเป็นกำลังใจเยาวช และครูได้นำทักษะ ความรู้ ความชำนาญ จากโครงการนี้ไปศึกษาต่อยอด และพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมในวงกว้างต่อไป”

นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 กำลังเป็นประเด็นที่นานาประเทศให้ความสนใจ แต่เรายังมีปัญหาที่ต้องเร่งพัฒนา ได้แก่ เยาวชนทุกกลุ่มได้รับโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานตามสิทธิที่กำหนดไว้ รวมทั้งประชากรระดับกลางและระดับสูงมีคุณภาพสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล การใช้สื่อดิจิทัลในหลากหลายแง่มุม นำไปสู่โอกาสแห่งการเรียนรู้ และเป็นสิ่งจำเป็นในการการเตรียมบุคคลากรของประเทศให้มีความพร้อมและสามารถมีทักษะที่จำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21 สำหรับโครงการนี้นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการทุกคน เพื่อได้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการใช้ไอซีทีเพื่อการศึกษา สามารถผลิตและมีสื่อการเรียนรู้แบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเรียนการสอนอย่างเหมาะสมต่อไป หวังว่าต่อไปจได้เห็นกิจกรรมดีๆ นี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันสร้างบุคคลากรของชาติให้มีศักยภาพ”

สำหรับผลงานที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในรอบแรกจะได้ร่วมเข้าแคมป์ Thailand ICT Youth Challenge 2015 ณ สถาบันวิชาการ ทีโอที ถนนงามวงศ์วาน ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน นี้ โดยปีนี้มีนักเรียนจากทั้ง 3 ระดับช่วงชั้นที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกเข้าร่วมกิจกรรม แบ่งเป็น ชั้นประถมปลายจำนวน 47 ทีม ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 25 ทีม และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 30 ทีม รวมทั้งสิ้น 102 ทีม นักเรียน 204 คน และครู 90 คน เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์การเรียนรู้ พร้อมกับได้ทดลองและสัมผัสใช้ ICT ในรูปแบบต่างๆ และสร้างผลงานให้เป็นรูปธรรมที่นำไปใช้ได้จริง ฯลฯ จากนั้นจึงให้คณะกรรมการตัดสินและคัดเลือกในรอบสุดท้าย ก่อนจะประกาศผลในต้นปี 2559 นี้ โดยทีมชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษาทีมละ 30,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับทุนการศึกษาทีมละ 20,000 บาทและรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้รับทุนการศึกษาทีมละ 10,000 บาท นอกจากนี้ทุกทีมยังจะได้รับถ้วยรางวัลและ ประกาศนียบัตรจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กระทรวงศึกษาธิการ)อีกด้วย

นายราจีฟ บาวา รักษาการ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า “ปัจจุบันอุตสาหกรรมเทคสตาร์ทอัพ ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความตื่นตัวอย่างมาก โดยถือเป็นตลาดใหม่ และพัฒนาอย่างรวดเร็วจนเป็นที่จับตามองของนักลงทุนจากทั่วโลก ในปีนี้เราเริ่มเห็นความตื่นตัวของภาครัฐและภาคเอกชนในหลายๆประเทศ เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย มีการรวมตัวกันของสตาร์ทอัพคอมมูนิตี้ ของหน่วยงานต่างๆในระดับภูมิภาค โครงการ Thailand ICT Youth Challenge ครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกที่จะนำน้องๆได้ก้าวไปสู่การเป็นสตาร์ทอัพดาวรุ่ง และสร้างความพร้อมให้เด็กไทยเข้าถึง ICT ในศตวรรษที่ 21 อย่างเท่าทัน พร้อมทั้งเป็นแรงบันดาลใจ และการกระตุ้นให้เกิดจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการในอนาคตและสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาปรับปรุงผลงานของทีม ให้เป็นผลงานที่นำมาใช้ประโยชน์ได้จริง และพัฒนาต่อเนื่องไปในอนาคต”

นางรัตนา นาคะศิริ ผู้จัดการฝ่าย หน่วยงานกำกับองค์กรและเลขานุการบริษัท บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “PTTGC ไม่เคยหยุดยั้งการคิดค้นนวัตกรรม เพื่อสิ่งที่ดีกว่า บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ควบคู่กับการส่งมอบผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้นเพื่อเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าทั้งในด้านสินค้าและบริการอื่นๆ บนพื้นฐานแห่งการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ พร้อมด้วยบุคลากรมืออาชีพ นอกจากนี้ เรายังผสานความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ในทุกมิติ รวมถึงด้านการศึกษาทั้งในส่วนท้องถิ่นและภูมิภาค โดยเฉพาะในยุคการสื่อสารไร้พรมแดน เยาวชนของชาติจำเป็นต้องมีความรู้เท่าทันเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาส ลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา เข้าถึงข้อมูลและประสบการณ์ดิจิทัล พร้อมเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างสมบูรณ์ โครงการนี้ เปรียบเหมือนเวทีสำคัญให้เยาวชนได้แสดงความรู้ ความสามารถ เกิดการเรียนรู้ การสังเคราะห์ การสร้างนวัตกรรม ด้วยการใช้ ICT ร่วมกัน ทั้งระหว่างเยาวชน คณาจารย์ สถานศึกษา ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และประเทศชาติในที่สุด”

นางวาสนา วงศ์พรหมเมฆ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-สำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ด้วยวิสัยทัศน์ในการเป็นบริษัทไทยชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าอย่างยั่งยืนในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยความใส่ใจที่จะธำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม เอ็กโก กรุ๊ป จึงมีเจตจำนงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศ และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้อุดมสมบูรณ์ ตลอดจนร่วมสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสังคม ซึ่งเราเชื่อว่าสังคมจะเข้มแข็ง ต้องเริ่มจากการปลูกจิตสำนึกที่ดีและสนับสนุนการเรียนรู้อย่างรอบด้านให้กับเยาวชน ซึ่งเป็นวัยต้นทางของการเรียนรู้ ผ่านโครงการต่างๆ ที่ เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินการอยู่ รวมทั้งการสนับสนุนโครงการในวันนี้ด้วย”

นางสติยา ลังการ์พินธุ์ ผู้จัดการรฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยืน ต้องการกำลังคนที่มีความรู้สามารถ มีทักษะในการทำงาน และมีขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรม บริษัทอินเทล เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นโดยผู้พัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ บริษัทของเราเติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง เพราะเราไม่เคยหยุดที่จะคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม ประวัติความสำเร็จของอินเทล เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยตอบคำถามว่า นวัตกรรมนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีขึ้นสำหรับทุกคนได้อย่างไร อินเทลจึงให้ความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเยาวชนในด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในเชิงสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานศึกษา ในรูปแบบที่ตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนแห่งศตวรรษที่ 21 อินเทลมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสสนับสนุน โครงการ Thailand ICT Youth Challenge 2015 โดยในงานนี้ วิทยากรจากอินเทล จะร่วมนำเสนอ เทรนด์ล่าสุดของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ผ่านแนวคิด Design Make Play หรือการเรียนรู้ผ่านการเล่น ฝึกฝนทักษะผ่านออกแบบและการประดิษฐ์ชิ้นงานที่บูรณาการการเขียนโปรแกรมกับความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์เพื่อพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะ ด้วยวิธีการที่สนุกท้าทาย”