กระทรวงแรงงาน ห่วงนายจ้าง ลูกจ้างได้รับผลกระทบจากพายุโพดุล ออกประกาศขอความร่วมมือนายจ้างช่วยเหลือลูกจ้างบ้านน้ำท่วม เดินทางไม่ได้ให้หยุดงานไม่ถือเป็นวันลา พร้อมย้ำนายจ้าง ลูกจ้างเตรียมพร้อมรับมือ ร่วมมือแก้ไขปัญหา
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนโพดุลทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยและภัยธรรมชาติในหลายพื้นที่ส่งผลให้ประชาชน สถานประกอบกิจการ นายจ้าง ลูกจ้างได้รับผลกระทบไม่สามารถประกอบกิจการและทำงานได้ตามปกติ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยนายจ้าง ลูกจ้าง และสถานประกอบกิจการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสำรวจสถานประกอบกิจการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า จังหวัดที่มีสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น พิจิตร พิษณุโลก มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร น่าน และร้อยเอ็ด สถานประกอบกิจการได้รับผลกระทบ 53 แห่ง ลูกจ้างรวม 7,586 คน และมีสถานประกอบกิจการที่ให้ลูกจ้าง หยุดงาน จำนวน 16 แห่ง ลูกจ้าง 1,867 คน นอกจากนี้ ยังพบว่า มีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบเช่น บ้านเรือนถูกน้ำท่วม เส้นทางตัดขาดไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ จำนวน 744 คน จากสถานประกอบกิจการ 34 แห่ง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว กสร. จึงได้ออกประกาศขอความร่วมมือช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ เพื่อขอความร่วมมือนายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบสามารถหยุดงานได้โดยไม่ถือเป็นวันลาหรือเป็นความผิด และขอให้นายจ้างจัดทำแผนฉุกเฉิน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญและแก้ไขสถานการณ์บรรเทาความเดือดร้อนและความสูญเสีย ในส่วนของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานขอให้ร่วมมือปฎิบัติตามแผนฉุกเฉิน ตรวจสอบเกี่ยวกับไฟฟ้า เครื่องจักร อาคารสถานที่ในสถานประกอบกิจการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายขึ้น
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ขอให้คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการร่วมมือกับนายจ้างในการดูแลและสนับสนุนการจัดสวัสดิการให้ช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบภัยตามความเหมาะสม สำหรับเครือข่ายด้านแรงงานขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและประสานงานช่วยเหลือ และขอให้นายจ้าง ลูกจ้าง และองค์การแรงงานปรึกษาหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาโดยหลักสุจริตใจและความเห็นอกเห็นใจกันเพื่อให้ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ คลี่คลายและผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยดี ทั้งนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ประสบภัยเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวจนส่งผลเกี่ยวกับการทำงานและให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่