กระทรวงพาณิชย์เผยผลถกโลจิสติกส์ ASEAN+6 บูรณาการภาพรวมระดับภูมิภาคคือความท้าทาย

0
416
image_pdfimage_printPrint

MG_4786-1

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสรุปผลการจัด ASEAN+6 Trade Logistics Connectivity Symposium 2015 ผู้เชี่ยวชาญโลจิสติกส์จาก ASEAN+6 ประเทศแนะอาเซียนเร่งบูรณาการระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาคและพัฒนาให้มีระดับใกล้เคียงกันทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระเบียบกฎเกณฑ์และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ รองรับภาคการค้าการลงทุนที่มุ่งมายังภูมิภาคนี้

นายวุฒิชัย ดวงรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงวิชาการนานาชาติ ASEAN+6 Trade Logistics Connectivity Symposium 2015 ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากร 12 ท่าน จากประเทศในกลุ่มอาเซียน+6 ได้แก่ กัมพูชา มาเลเซีย เมียนมา เวียดนาม สิงคโปร์ สปป.ลาว อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และประเทศไทย ซึ่งล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์การค้าและการค้าระหว่างประเทศ มาร่วมนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ด้านโลจิสติกส์และการอำนวยความสะดวกทางการค้าของแต่ละประเทศ ตลอดจนแนวโน้ม ปัญหา อุปสรรค เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะแนวทางในการแก้ไข
การสัมมนาเริ่มจากการรายงานผลการประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และนำข้อสรุปมาเสนอในเวทีสัมมนา ซึ่งต่างฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าภูมิภาค ASEAN+6 จำเป็นต้องบูรณาการระบบโลจิสติกส์ในภาพรวมโดยเฉพาะโครงสร้างสำคัญ 4 ส่วนที่เชื่อมโยงกัน อันได้แก่ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) กรอบสถาบัน ระเบียบ/กฎหมาย (Institutional Framework) ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (Service Providers) และผู้ให้บริการขนส่ง (Shippers / Consignees)
ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาเซียนอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบขนส่งทางบกทั้งถนนและรางรถไฟเช่น North-South Economic Corridors (NSEC), East-West Economic Corridors (EWEC) เพื่อรองรับเส้นทางการค้า Silk Road ที่เชื่อมโยงระหว่างจีนกับตะวันตก ผู้แทนจีนกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอการสร้างเส้นทางรถไฟ 2 เส้นทาง คือ คุนหมิง-สิงคโปร์ (ผ่านเวียดนาม กัมพูชา ไทย มาเลเซีย) และ คุนหมิง-เมียนมาร์ (ผ่านกาญจนบุรี) ซึ่งหากโครงการได้รับการเห็นชอบแล้วก็จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น การสร้าง/พัฒนา สิ่งอำนวยความสะดวก/อสังหาริมทรัพย์ หรือธุรกิจต่อเนื่องเพื่อรองรับเส้นทางรถไฟ นอกจากนี้หลายๆ ประเทศให้ความสำคัญกับการสร้าง/ขยายท่าเรือ การปรับปรุงพัฒนาการบริหารจัดการท่าเรือให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เช่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย
ในด้านระเบียบ/กฎหมาย ส่วนใหญ่จะเกี่ยวเนื่องกับ ASEAN-10 โดยเฉพาะประเทศที่มีดินแดนทางบกติดต่อกัน ประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษคือการพัฒนาระบบ National Single Windows (NSW) ของแต่ละประเทศให้มีความสมบูรณ์เพื่อเชื่อมต่อกับ ASEAN Single Windows (ASW) และการเชื่อมต่อแนวนโยบายเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นต้น
ส่วนด้านผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในทุกประเทศ ขณะนี้กำลังเติบโตและมีการแข่งขันสูงเพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นี้ ซึ่งมีทั้งที่ดำเนินการโดยคนในท้องถิ่นเองและมีการลงทุนจากต่างชาติ เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ เป็นต้น ในด้านผู้ให้บริการขนส่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทต่างชาติรายใหญ่ โดยเฉพาะทางเรือและทางอากาศ ซึ่งบริษัทต่างชาติหลายรายก็พยายามที่จะแข่งขันกับธุรกิจ LSP รวมทั้งขยายบริการออกไปด้วย
อย่างไรก็ตาม การบูรณาการในเรื่องระบบโลจิสติกส์ในอาเซียนและอาเซียน+6 เป็นไปค่อนข้างช้า เนื่องจากประเทศในอาเซียนมีระดับการพัฒนาต่างกันอีกทั้งสภาพภูมิประเทศก็มีความต่างกันมาก ทั้งยังประสบปัญหาในการปฏิบัติตามพันธกรณีในกรอบความตกลงต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์ทางบก นอกจากนี้ ยังขาดผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ที่มีความรู้ความเข้าใจ เป็นต้น ที่ประชุมจึงให้เสนอแนะให้องค์กรภาครัฐและภาคเอกชนในอาเซียน รวมถึงหุ้นส่วนคู่เจรจาอาเซียนประสานความร่วมมือให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น และสร้างความมั่นใจในด้านข้อมูลสารสนเทศที่ทันสมัยและมีกฎระเบียบที่โปร่งใส กฎระเบียบของแต่ละประเทศต้องสอดคล้องกับข้อผูกพันระหว่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานและวิธีปฏิบัติด้านการผ่านพิธีการศุลกากร สนับสนุนการสร้างเครือข่ายความเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ ตลอดจนส่งเสริมการจัดทำจรรยาบรรณมาตรฐานอาชีพโลจิสติกส์และอำนวยความสะดวกในการเข้าไปทำงานโลจิสติกส์และผ่อนปรนการเคลื่อนย้ายบุคลากรทางวิชาชีพด้านโลจิสติกส์
การจัดงานสัมมนา Symposium โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 9 โดยจัดควบคู่กับงานแสดงสินค้าTILOG-LOGISTIX 2015 ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการนำเข้า ส่งออก ผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ นักธุรกิจ นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมการสัมมนาเกือบ 300 คน ผลการสัมมนาจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในอาเซียน+6 เพื่อรองรับโอกาสที่ภูมิภาคนี้จะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าและศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญของโลก