กรุงเทพฯ มีนาคม ๒๕๖๑ – จากนโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจ โดยการผลักดันสินค้าและบริการไทยให้เป็นที่นิยมในตลาดโลก รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาศักยภาพการผลิต ให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ทั่วโลกไว้วางใจ ทั้งในด้านการผลิตที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีธรรมาภิบาลและมีการคุ้มครองแรงงานอย่างเป็นธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อและผู้บริโภค จึงได้ จัดกิจกรรมส่งเสริมตรา Thailand Trust Mark หรืองาน “T Mark Festival 2018” เพื่อสร้างประสบการณ์โดยตรงกับนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้บริโภคชาวไทย รวมทั้งตอกย้ำการสร้างการรับรู้ในตราสัญลักษณ์ T Mark รวมถึงแบรนด์สินค้าไทยที่มีคุณภาพและได้รับเครื่องหมายการันตีมาตรฐานคุณภาพตรา T Mark กว่า ๓๐ บริษัท
โครงการ Thailand Trust Mark เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดําเนินการตามนโยบายกระทรวงพาณิชย์ในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อให้รับตราสัญลักษณ์ T Mark โดยกลั่นกรองและพิจารณาผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติครบถ้วน คือ สถานประกอบการที่มีคุณภาพ มาตรฐานระดับสากล (International Standard) ได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย (Thai Labour standard) เป็นอุตสาหกรรมที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment Concern) และมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) รวมทั้งการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน องค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยสร้างความไว้วางใจต่อสินค้าและบริการที่มีตรา T Mark ต่อผู้บริโภคได้
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “Thailand Trust Mark หรือ T Mark มุ่งผลักดันและยกระดับความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าของผู้ประกอบการไทยให้มุ่งไปสู่ตลาดศักยภาพสูง (Dynamic Market) มากขึ้น เช่น ตลาด CLMV ตลาดจีนที่มีอิทธิพลต่อทั่วโลกในขณะนี้ ปัจจุบันการประกอบธุรกิจในประเทศไทย มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่มีสัดส่วนถึง ๙๕% ของประเทศและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงมีหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพการผลิต เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งการรับรองมาตรฐานคุณภาพสินค้าของตรา T Mark นี้ จะต้องผ่านเกณฑ์เกณฑ์มาตรฐานการผลิต เกณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว ของกระทรวงอุตสาหกรรม และเกณฑ์มาตรฐานแรงงานไทย ของกระทรวงแรงงาน ซึ่งนับว่าเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่าง ๓ กระทรวง”
“ในด้านการสร้างภาพลักษณ์ประเทศในเวทีการค้าโลกนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ T Mark อย่างเข้มข้นขึ้น โดยเจาะตลาดเป้าหมาย เน้นกลุ่มประเทศที่ให้ความสนใจในประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคมและแรงงาน อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและจีน โดยเน้นสื่อสารในประเด็นสำคัญ คือ มาตรฐาน คุณภาพกระบวนการผลิต และภาพลักษณ์องค์กรที่ดีทั้งในด้านการใช้แรงงานที่เป็นธรรมตามหลักมาตรฐานสากล การดำเนินงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้แก่สินค้าและบริการจากประเทศไทย และปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามปฏิญญาความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐและผู้ประกอบธุรกิจในไทยเห็นประโยชน์และตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งนำไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ซึ่งนับได้ว่า ตรา T Mark เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้และการขับเคลื่อนในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในภาคธุรกิจอีกด้วย
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมได้ประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ T Mark ภายในประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับตราสัญลักษณ์ในกลุ่มผู้ประกอบการ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผู้ได้รับตรา T Mark ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในตราสัญลักษณ์และเชิดชูคุณลักษณะที่ดีของผู้ที่ได้รับตรา T Mark ในขณะเดียวกัน ก็มีการประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ ในกลุ่มผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ผู้บริโภคในต่างประเทศ รวมทั้งในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งในปีนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จับมือกับบริษัท คิง เพาเวอร์ จำกัด จัดงาน T Mark Festival 2018 เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ Thailand Trust Mark ไปยังนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น โดยเนรมิตพื้นที่บริเวณลาน Outdoor Multi-Purpose Area ให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงสินค้า T Mark กว่า ๓๐ บูธ ภายใต้คอนเซปต์ “ช็อปเพลิน เดินชิล สินค้าดี กิจกรรมโดน” ทั้งยังมีกิจกรรม “Heart-Made Quality Workshop” เวิร์คช้อปพิเศษสอนทําอาหาร และสินค้าที่ระลึกแบบไทยๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ในกลุ่มผู้บริโภคให้เกิดความประทับใจและจดจําตรา T Mark”
“คิง เพาเวอร์ ถือว่าเป็นแหล่งช็อปปิ้งที่นิยมมาก ในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนที่ชื่นชอบในสินค้าและบริการไทยสถิติข้อมูลการส่งออกจากไทยไปจีน ในปี ๒๕๖๐ พบว่ามีมูลค่ากว่า ๒๙,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๙ กว่า ๖,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ๒๕๖๑ นี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจึงได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับคิง เพาเวอร์จัดกิจกรรม T Mark Festival 2018 ขึ้นเพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ศ.ดร.สกนธ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ กล่าวว่า “กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ เป็นบริษัทของคนไทยที่เชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย โดยร่วมสนับสนุนส่งเสริมสินค้าไทยที่ผลิตและสร้างสรรค์โดยคนไทย ซึ่งงานนี้ถือว่าเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญระหว่าง คิง เพาเวอร์ และสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ำตราสัญลักษณ์โดยนำเสนอสินค้าที่ได้รับ Thailand Trust Mark หรือ T MARK ให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเราเชื่อมั่นว่าสินค้าไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ T MARK จะมีความแข็งแกร่งและส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับเศรษฐกิจไทย พร้อมก้าวไปสู่ประเทศที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพระดับโลก”
ภายในงานยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการเพื่อขอรับตราสัญลักษณ์ T Mark พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเจ้าของแบรนด์ที่ได้รับตรา T Mark ในปีก่อนๆกว่า ๓๐ บริษัทได้โดยตรง เช่น เอราวัณฟูด กิฟฟารีน บลูสไปซ์ อุตสาหกรรมพันท้ายนรสิงห์ และแบรนด์ VOO DOO ที่กำลังเป็นที่นิยมในตลาดจีน เป็นต้น รวมถึงขอคําแนะนําเกี่ยวกับการยื่นเอกสารการสมัครได้จากเจ้าหน้าที่ในงานที่ประจําอยู่ได้ตลอดการจัดงาน ในปีนี้คาดว่ายอดผู้ประกอบการไทยจะสมัครขอรับตรา T Mark เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ www.thailandtrustmark.com หรือแฟนเพจ Thailand Trust Mark
เกร็ดความรู้
สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการที่มีสถานะเป็นสมาชิก T Mark จะได้รับการอบรมพัฒนาความรู้ทักษะที่จำเป็นเพื่อนำไปต่อยอดด้านการทำธุรกิจ
ปัจจุบันมีบริษัทที่เป็นสมาชิกโครงการ Thailand Trust Mark ทั้งสิ้น ๗๖๖ บริษัท
ประเภทของธุรกิจที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ในปี ๒๕๖๑ มีการแบ่งออกเป็น ๘ ประเภทดังนี้
๑. กลุ่มอุตสาหกรรมหนัก
สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ สินค้ายานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าวัสดุก่อสร้าง สินค้าเม็ดพลาสติก สินค้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์พลาสติก
๒. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร
สินค้าเกษตร สินค้าผักผลไม้สดและแปรรูป สินค้าอาหารทะเลสดและแปรรูป สินค้าปศุสัตว์
๓. กลุ่มอุตสาหกรรมไลฟสไตล์
สินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน สินค้าเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัว สินค้าของเล่น สินค้าของขวัญของชําร่วยและของ ตกแต่งบ้าน เคหะสิ่งทอ สินค้าเครื่องเขียน ของใช้บนโต๊ะทํางาน
๔. กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น
สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าเครื่องหนังและรองเท้า สินค้าแฟชั่นเสื้อผ้าและสิ่งทอ
๕. กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ
สินค้าเครื่องมือแพทย์ สินค้าผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม สินค้าเครื่องสําอาง และผลิตภัณฑ์สปา ๖. ธุรกิจบริการรักษาพยาบาล (โรงพยาบาล/คลินิก)
บริการโรงพยาบาล คลินิก
๗. ธุรกิจบริการส่งเสริมสุขภาพ (สปา)
สปาและบริการนวดแผนไทย บริการเสริมความงาม บริการด้านสุขภาพ
๘. ธุรกิจบริการการศึกษานานาชาติ
โรงเรียน มหาวิทยาลัย