กระทรวงพลังงานเดินสายจัดมหกรรมตลาดนัดพลังงานชุมชน มอบรางวัล “สุดยอดคนพลังงาน”ครบทั้ง 4 ภาค ปิดท้ายภาคอีสาน มอบรางวัลแชมป์ระดับจังหวัด 20 จังหวัด และแชมป์ระดับภาค 16 รางวัล ใน 4 สาขา เผยความสำเร็จจากกิจกรรมได้สร้างกำลังใจคนทำงานด้านพลังงาน ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างโอกาส รายได้ให้คนในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น
นางเอมอร ชีพสุมล รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า กิจกรรมการมอบรางวัล “สุดยอดคนพลังงาน” เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับบุคล องค์กร ที่ทำงานด้านพลังงานในโอกาสครบรอบ 10 ปี พลังงานชุมชน เดินทางมาถึงโค้งสุดท้าย จากการลงพื้นที่พบว่าได้สร้างแรงกระตุ้นให้ชุมชนมีความตื่นตัวเรื่องการพัฒนาพลังงานในท้องถิ่นของตนเองเพิ่มมากขึ้น
“เดินทางมาถึงภาคสุดท้ายแล้วสำหรับภาคอีสาน ต้องบอกว่ามีความตื่นตัวเรื่องพลังงานไม่แพ้ภาคอื่นเลย มีโครงการงานพัฒนาด้านพลังงานที่น่าสนใจและสามารถนำไปต่อยอดได้อีกหลายโครงการ กระทรวงพลังงานส่งเสริมโครงการพลังงานชุมชนตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนจำนวน 1,676 แห่ง สร้างโอกาสพัฒนาต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชนลดใช้พลังงานกว่า 188 กลุ่ม และในครั้งนี้ถือเป็นโค้งสุดท้ายแล้วก่อนจะได้ผู้ชนะในระดับประเทศ ซึ่งภาคอีสานมีผู้ชนะระดับจังหวัดทั้งหมด 20 จังหวัด จากนั้นได้มาคัดเลือกเฟ้นหาสุดยอดคนพลังงานที่เป็นระดับภาค จากผู้ชนะ 10 จังหวัดที่เข้ารอบ รวมทั้งหมด 16 รางวัล ต้องไปรอลุ้นกันต่อไปว่ารางวัลระดับประเทศจะอยู่ที่ภาคอีสานกี่รางวัล
ผลการดำเนินกิจกรรมทั้ง 4 ภูมิภาค พบว่าชุมชนมีความตื่นตัวเรื่องพลังงานมากขึ้น มีการสร้างงานสร้างคนด้านพลังงานขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หลายคนในชุมชนเข้าใจว่าพื้นที่ของตนเองมีดีอย่างไร มีวัตถุดิบอะไรนำไปผลิตพลังงานได้บ้าง มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมพลังงานไปใช้ในพื้นที่เพื่อผลิตพลังงานใช้เองหรือนำไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต ซึ่งได้สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชนมากขึ้น รวมถึงมีพัฒนาการด้านพลังงานจากชุมชนต่อยอดไปสู่ระดับประเทศได้”
เกณฑ์การคัดเลือกและมอบรางวัล “สุดยอดคนพลังงาน” ผ่านแนวคิด “พลังงานสร้างคน คนสร้างพลังงานยั่งยืน” ประจำปี พ.ศ. 2560 แบ่งเป็น ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ( 4 ภาคทั่วประเทศ) และระดับประเทศ โดยเริ่มมอบรางวัลครั้งที่ 1 ที่ภาคกลาง เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ครั้งที่ 3 ภาคใต้ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 และครั้งที่ 4 ที่ภาคอีสาน เป็นภาคสุดท้ายก่อนเตรียมแข่งขันระดับประเทศในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ โดยการมอบรางวัลจะเริ่มจากผู้ชนะระดับจังหวัด ซึ่งมีทั้งหมด 20 จังหวัด จากนั้นจึงคัดสุดยอดของแต่ละสาขา (ทั้งหมด 4 สาขา) เป็นผู้ชนะระดับภาค ผลปรากฏว่ามีจังหวัดที่เข้ารอบจำนวน 10 จังหวัด และรางวัลผู้ชนะระดับภาคมีทั้งหมด 16 รางวัลในภาคอีสาน
สำหรับ 4 สาขาที่มีการมอบรางวัล ประกอบด้วย 1.สาขาอาสาสมัครพลังงานชุมชนยอดเยี่ยม 2.สาขาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการพลังงานครบวงจรยอดเยี่ยม 3. สาขาวิสาหกิจลดใช้พลังงานยอดเยี่ยม 4.สาขาโครงการพลังงานชุมชนแบบมีส่วนร่วมยอดเยี่ยม ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลระดับภาค และสำนักงานพลังงานจังหวัดจะได้รับเชิญเข้าร่วมในพิธีมอบรางวัล “สุดยอดคนพลังงาน” ระดับประเทศต่อไป โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 กันยายน 2560 ณ ห้องไดมอน ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต อีกทั้ง ภายในงานยังจัดให้มีกิจกรรม Open House “กิจกรรมเปิดบ้าน…พลังงานชุมชน” อีกด้วย
นายสุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า จังหวัดอุดรธานี ให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง และยังถือเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมในหลายๆ ด้านที่จะผลักดันการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการส่งเสริมโครงการพลังงานชุมชนที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
“จังหวัดอุดรธานีถือเป็นจุดศูนย์กลางในการประชุม ชี้แจง ทำความเข้าใจเรื่องพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความพร้อมด้านบุคลากรพลังงาน สามารถสื่อสารนำความรู้ความเข้าใจเรื่องของพลังงานไปขยายผลให้ประชาชนได้รับทราบ ทั้งยังมีวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง มีการนำความรู้เทคโนโลยีพลังงานไปใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงาน และสร้างมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วย นอกจากนี้ จังหวัดยังได้เปรียบเรื่องพื้นที่ที่มีแหล่งพลังงานอย่างปิโตรเลียม พลังงานทดแทนและทางเลือกอีกมากมาย โครงการพลังงานชุมชนที่กระทรวงพลังงานส่งเสริมนั้นได้สร้างประโยชน์ให้จังหวัดมาก ชุมชนได้เพิ่มองค์ความรู้ใหม่ ๆ และนำไปปรับใช้ต่อยอดการพัฒนาด้านพลังงานในท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่”
ปัจจุบัน โครงการวางแผนพลังงานชุมชน : Local Energy Planning (LEP) 2549 – 2560 ได้สร้างอาสาสมัครพลังงานชุมชน (อสพน.) จำนวนกว่า 6,042 คน โดย อสพน. คือประชาชนที่มีจิตอาสาทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน ในการขับเคลื่อน และพัฒนาพลังงานไทย ด้วยแนวคิด รู้-รักษ์-ตระหนัก-สร้าง กระจายในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยพัฒนาตนเองต่อยอดไปสู่นักวิจัยพลังงาน 380 คน ช่างเทคโนโลยีพลังงานชุมชน 172 คน นักสื่อสารพลังงาน 2,879 คน วิทยากร 514 คน และได้สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน จำนวน 1,676 ชุมชน ก่อเกิดแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงาน 210 แห่ง เกิดอาชีพด้านพลังงานที่ผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีพลังงานระดับชุมชนจำนวน 172 แห่ง สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงาน 56 สร้างโอกาสพัฒนาต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชนลดใช้พลังงานกว่า 188 กลุ่ม สามารถลดค่าใช้จ่ายพลังงานได้ 5 ล้านบาทต่อปี และลดจากการประหยัดพลังงานของบ้านตัวอย่างได้ 28 ล้านบาทต่อปี เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนของครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการได้กว่า 8 แสนบาทต่อปี