กระทรวงการต่างประเทศและกองทุนประชากรแห่งสหประชาติร่วมจัดกิจกรรม TICA Connect ครั้งที่ 4
กระทรวงการต่างประเทศและกองทุนประชากรแห่งสหประชาติร่วมจัดกิจกรรม
TICA Connect ครั้งที่ 4
‘The 4th TICA Connect: Five Decades of Thailand and UNFPA partnership:
Advancing towards Sustainable Development Goals (SDGs)’
กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศและกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ร่วมจัดกิจกรรม TICA Connect ครั้งที่ 4 ‘The 4th TICA Connect: Five Decades of Thailand and UNFPA partnership: Advancing towards Sustainable Development Goals (SDGs)’ ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อฉลองปีที่ 47 ที่ประเทศไทยและกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติดำเนินงานในการเป็นหุ้นส่วนและมีความร่วมมือแบบใต้-ใต้ (South-South Cooperation) เพื่อสนับสนุนสุขภาพมารดา นโยบายด้านประชากรและการพัฒนา และเพื่อจัดแสดงหลักปฏิบัติที่ดีจากประเทศไทยในการเป็นภาคีเพื่อการพัฒนาทางสังคมที่สนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ที่กำลังพัฒนาบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573
ในโอกาสนี้ พณฯ วีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดกิจกรรมฉลองการครบรอบ 47 ปีของความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ว่า “ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยและกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติได้ร่วมมือทำงานกันอย่างใกล้ชิดในเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนในการดูแลสุขภาพมารดา การวางแผนครอบครัว การลดการติดเชื้อเอชไอวี และนโยบายด้านประชากรและการพัฒนา ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยและกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติกำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 5 ของความร่วมมือและมีความมุ่งมั่นให้ประชากรหนุ่มสาวและกลุ่มเปราะบางเข้าถึงสิทธิและบริการด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ และแบ่งปันหลักปฏิบัติที่ดีจากประเทศไทยในการสนับสนุนสุขภาพมารดาสู่ประเทศกำลังพัฒนาผ่านกรอบความร่วมมือแบบใต้-ใต้ โดยกรอบครวมร่วมมือดังกล่าวเป็นเวทีที่ให้ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านและประชาคมโลกให้สามารถบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573”
ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนสุขภาพมารดา นโยบายด้านประชากรและการพัฒนา โดยเห็นได้จากอัตราการเสียชีวิตของมารดาที่ลดลงอย่างมาก จากอัตรามารดาตาย 115 คนต่อเกิดมีชีพ 100,000 คนเมื่อพ.ศ. 2523 สู่อัตรามารดาตาย 44 คนต่อเกิดมีชีพ 100,000 คนเมื่อพ.ศ. 2533 และสู่อัตรามารดาตาย 20 คนต่อเกิดมีชีพ 100,000 คน ในพ.ศ. 2558 จำนวนอัตราการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้ลดลงจากประมาณร้อยละ 20-40 ในช่วงปีพ.ศ. 2533 ไปสู่ร้อยละ 1.9 ในช่วงปีพ.ศ. 2558 และจำนวนการติดเชื้อเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์ได้ลดลงจากร้อยละ 2 สู่ร้อยละ 0.6 ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ให้คำมั่นสัญญาในการดูแลสุขภาพของทุกคนในประเทศผ่านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งจะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ 3 ของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้แน่ใจว่าประชากรทุกคนทุกวัยในประเทศจะมีชีวิตที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีความเป็นอยู่ที่ดี
และเมื่อมองไปสู่ปีต่อๆ ไปข้างหน้าในการที่จะทำให้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 เกิดขึ้นจริง คุณมาเซล่า
ซูอาโซ ผู้อำนวยการกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวเน้นย้ำถึงการที่ประเทศไทยเป็นภาคีเพื่อการพัฒนาในระดับประชาคมโลก ว่า “ประเทศไทยได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและศักยภาพในการดูแลประชากรทุกกลุ่มในประเทศรวมไปถึงประชากรกลุ่มเปราะบาง กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติชื่นชมที่ประเทศไทยได้กำหนดให้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 เพื่อสนับสนุนประชากรทุกกลุ่มรวมถึงวัยรุ่นให้มีสุขภาพที่แข็งแรงและมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างแท้จริง โดยพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนี้สร้างหลักประกันให้วัยรุ่นทุกคนได้เข้าถึงสิทธิและบริการสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยได้แบ่งปันความเชี่ยวชาญที่ได้พิสูจน์แล้วว่าทำได้จริงในการส่งเสริมสุขภาพมารดากับประเทศกำลังพัฒนาผ่านกรอบความร่วมมือแบบใต้-ใต้ตลอดเกือบ 5 ทศวรรษที่ผ่านมาและในปีต่อๆ ไปที่กำลังมาถึง ทั้งนี้ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติยืนหยัดที่จะทำงานผนึกกำลังกับประเทศไทยผ่านกรอบความร่วมมือแบบใต้-ใต้นี้เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครสักคนในประเทศไทยและในที่ต่างๆ ของโลกถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง”
ทั้งนี้ ประเทศไทยและกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติริเริ่มความร่วมมือกันในปี พ.ศ. 2515 โดยตลอดเกือบ 5 ทศวรรษนี้ ประเทศไทยและกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกลุ่มต่างๆ ซึ่งได้แก่ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ประชาคมสังคม เพื่อผลักดันเป้าหมายภายใต้กรอบการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องประชากรกับการพัฒนา (ICPD) ที่เน้นการปรับปรุงระบบการดูแลสุขภาพมารดา การเข้าถึงการให้บริการอนามัยการเจริญพันธุ์แบบองค์รวม การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี การเก็บข้อมูลและการนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้เพื่อการพัฒนาและการตอบสนองต่อข้อท้าทายใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับประเด็นด้านประชากร เช่น การเข้าสู่ภาวะสูงวัย ปัจจุบัน ประเทศไทยและกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติปรารถนาที่จะลดภาวะการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กำหนดนโยบายที่ตอบสนองต่อการเข้าสู่สังคมสูงวัย และการเป็นภาคีที่มีความมุ่งมั่นต่อกันและกันในการผลักดันการพัฒนาภายใต้กรอบความร่วมมือแบบใต้-ใต้กับประเทศต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและในประชาคมโลก