กรมโรงงานฯ ชี้แจงกรณีร้องคัดค้านตั้งโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า จากการแปรรูปขยะแห่งที่ 2 จังหวัดเพชรบุรี

0
308
image_pdfimage_printPrint

กรุงเทพฯ 18 สิงหาคม 2560 – กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมชี้แจงกรณีชาวบ้านร้องเรียนคัดค้านคำขอใบรับอนุญาตก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากการแปรรูปขยะเพิ่มอีก 1 โรง เกินความจำเป็น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เขตชุมชน บ้าน วัด และโรงเรียน อีกทั้งยังเป็นทางน้ำหลาก ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเร่งติดตามและตรวจสอบ รวมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ถูกต้อง และเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายต่อไป
สำหรับประชาชนสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 หรือขอคำปรึกษา
แนะนำได้ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 0 2202 4018 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล์ pr@diw.mail.go.th
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ชี้แจงกรณีที่ชาวบ้านจากตำบลไร่มะขาม ตำบลท่าเสน และตำบลบ้านไร่ถิ่นน้อย อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี รวมตัวคัดค้านคำขอใบรับอนุญาตก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากการแปรรูปขยะ ของบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี กรุ๊ป จำกัด ณ หมู่ 9 ตำบลท่าเสน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เพื่อประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า กำลังผลิตรวม 9.9 เมกะวัตต์ โดยชาวบ้านให้เหตุผลในการคัดค้านในครั้งนี้ว่าจังหวัดเพชรบุรี มีโรงงานแปรรูปขยะที่กำลังก่อสร้างอยู่แล้ว 1 โรง
ที่อำเภอท่ายาง ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงกว่าปริมาณขยะภายในจังหวัดเพชรบุรี การก่อสร้างโรงงานเพิ่มขึ้นอีก 1 โรงนั้น เกินความจำเป็น และมีลักษณะที่จะต้องนำขยะจากนอกพื้นที่เข้ามาในพื้นที่เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและเกษตรกรรม เขตชุมชน บ้าน วัด และโรงเรียนอีกสองแห่ง อีกทั้งยังเป็นทางน้ำหลาก
นายมงคล กล่าวต่อว่า การขออนุญาตจัดตั้งโรงงานประกอบธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งมีขั้นตอนก่อนการรับคำขอรับใบอนุญาตต้องดำเนินการในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัทฯจะต้องดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นให้ครอบคลุมเป้าหมาย ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานด้วย ในรัศมี 3 กิโลเมตร จากขอบเขตพื้นที่สถานประกอบการ พร้อมทั้งจะต้องมีการจัดทำรายงานตามประมวลหลักการปฏิบัติ(Code of Practice..CoP) ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมการก่อสร้าง ระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ เพื่อประกอบการขออนุญาตตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน และมีการจัดทำรายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยประกอบการยื่นเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(ร.ง.4) โดยข้อห่วงกังวลของประชาชนหรือชาวบ้านที่ให้เหตุผลในการคัดค้านจะต้องมีการอธิบายตามหลักวิศวกรรมว่าสามารถป้องกันและแก้ไขได้อย่างเหมาะสมหากจังหวัดเพชรบุรีได้ดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว และได้รับเอกสารประกอบการขออนุญาต (ร.ง.4)โดยได้ตรวจสอบทำเล สถานที่ตั้ง ว่าเหมาะสม ต่อการประกอบกิจการโรงงานและไม่ขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 พร้อมส่งรายละเอียดและความเห็นให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ก็จะพิจารณาทบทวนในประเด็นต่าง ๆ ให้ครอบคลุมครบถ้วน แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเพื่อพิจารณาอนุญาต หรือไม่อนุญาต ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกำกับกิจการพลังงาน และผู้ประกอบกิจการจะต้องได้รับใบอนุญาตที่ออกตามกฎหมายพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานอีก จำนวน 3 ใบ ได้แก่ ใบอนุญาตก่อสร้าง, ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า และใบอนุญาตพลังงานควบคุม จึงจะสามารถประกอบธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ตรวจสอบแล้วพบว่ายังอยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเร่งติดตาม ตรวจสอบอย่างครอบคลุม รวมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่ายต่อไป