กรมโรงงานอุตสาหกรรม สัมมนาสรุปผลการศึกษาและวางแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและการค้า พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ตามนโยบายรัฐ
วันที่ 14 ตุลาคม 2558 ณ ห้องราชเทวี โรงแรมเอเชีย กรุงเทพ ฯ นายประสงค์ นรจิตร์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินงาน โครงการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างมีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุน หรือ โครงการ Industrial Zoning ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาและวางแผนพัฒนาและประเมินศักยภาพพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โดยคำนึงถึงความสมดุลในมิติต่างๆ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงแผนพัฒนาต่างๆ ของพื้นที่ เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถประกอบกิจการได้อย่างมีศักยภาพและอยู่ร่วมกับชุมชน ตลอดจนสังคมได้อย่างปกติสุข
นายประสงค์ นรจิตร์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า “การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เป็นนโยบายเร่งด่วนของประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพพื้นที่ รวมทั้งอำนวยความสะดวก ด้านต่าง ๆ ให้แก่นักลงทุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศที่รวดเร็ว สร้างรายได้ให้กับ คนในชาติ รวมถึงนำรายได้เข้าสู่ประเทศ ดังนั้นการศึกษาวางแผนพัฒนาและประเมินศักยภาพพื้นที่อุตสาหกรรม จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและภาคประชาสังคม และก็ต้องไม่ละเลยที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้กับรุ่นต่อไปด้วย ฉะนั้นการศึกษาและวางแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในพื้นที่ที่เหมาะสม ได้มีการพูดคุยกับหน่วยงานต่าง ๆ แต่ละจังหวัด รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง จนได้มาซึ่งแผนที่พื้นที่ที่มีศักยภาพการพัฒนาอุตสาหกรรมและประเภทอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการลงทุน ตลอดจนแผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน”
ด้านนายประสม ดำรงพงษ์ ผู้อำนวยการส่วนที่ 3 สำนักโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา 4 กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ ปี 2558 รัฐบาลมีนโยบายที่จะผลักดันให้มีเขตเศรษฐกิจเพื่อรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและการค้าในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ รวมถึงการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงกำหนดให้มีการศึกษาและวางแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจ
พิเศษ ระยะที่ 1 ได้แก่จังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราดและสงขลา อีกทั้งยังกำหนดให้มีการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดตามภูมิภาคที่สำคัญเพื่อเตรียมพร้อมอีก 15 จังหวัดด้วย ซึ่งวันนี้เป็นการสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษา รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นต่อแผนการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม ตลอดจนได้เชิญผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากกรมโยธาธิการและผังเมือง นายพิชัย อุทัยเชฏฐ์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง มาร่วมบรรยายแนวทางการวางผังเมืองเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและรับทราบความก้าวหน้าในการเตรียมการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจของแต่ละหน่วยงาน เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาประเทศร่วมกันต่อไป”
จากผลการศึกษาโดยใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ หรือ GIS เป็นเครื่องมือในการศึกษา ประกอบกับการสานเสวนากับหน่วยงานและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและเอกชนในพื้นที่ พบว่า ทั้ง 5 จังหวัดตามยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1 นั้น มีพื้นที่เหมาะสมต่อการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมตั้งอยู่เดิมแล้ว และสำหรับประเภทอุตสาหกรรมที่เหมาะสมมีศักยภาพของทั้ง 5 จังหวัดนั้น มีความสอดคล้องกับประเภทอุตสาหกรรมในแผนแม่บทอุตสาหกรรมของประเทศไทย และประเภทกิจการที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนเพิ่มเติมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญญมณีและเครื่องประดับ (จังหวัดตาก) อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (จังหวัดตากและสงขลา) อุตสาหกรรมยาง (จังหวัดมุกดาหารและสงขลา) อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (ทั้ง 5 จังหวัด) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ (จังหวัดตากและมุกดาหาร) และอุตสาหกรรมพลังงาน (จังหวัดตาก สระแก้ว และสงขลา) โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มองการพัฒนาในรูปคลัสเตอร์ และห่วงโซ่คุณค่า ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ต้องมีแผนงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและพื้นที่อุตสาหกรรมทั้งด้านเทคโนโลยีงานการวิจัยต่างๆ ผู้ประกอบการ แรงงาน ระบบโครงข่ายคมนาคม โลจิสติกส์ เครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน สิ่งแวดล้อม สิทธิประโยชน์การลงทุน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนผลการศึกษาใน 15 จังหวัดในภูมิภาคจะถูกนำไปต่อยอดในการศึกษาและกำหนดการโซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต เพื่อให้เกิดการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งผลการศึกษาจะเผยแพร่บนเว็บไซต์ www.diwzoning.com
“สร้างสมดุลอุตสาหกรรมกับธรรมชาติ สร้างเศรษฐกิจของชาติสู่ความยั่งยืน”
_____________________________________________________________