1

กรมอุทยาน ส่งเสริม สร้างแนวร่วม สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ป่า

กรมอุทยาน ส่งเสริม สร้างแนวร่วม สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ป่า

นายพรชัย วนัสรุจน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง มีเนื้อที่ประมาณ 52,300 ไร่ หรือ 83.68 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่ อำเภอแกลง กิ่งอำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง และอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางภาคตะวันออกของประเทศ และอยู่ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี สระแก้ว โดยในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในอุทยานฯ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากความสวยงามของถ้ำเขาวง ที่เป็นภูเขาหินปูนหลายยอดล้อมรอบเป็นวง มีหน้าผาและชะโงกผาที่สวยงาม ประกอบด้วยถ้ำประมาณ 80 ถ้ำ แต่ละถ้ำมีความสวยงามแตกต่างกัน นอกจากนี้ บริเวณพื้นที่รอบ ๆ เขาวงเป็นแหล่งอาศัยของเลียงผาเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเปิดให้ชม 16 ถ้ำ แบ่งเป็น 3 โซน แต่ละโซนมีความยากง่ายในการเที่ยวชมต่างกัน รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่น้ำตกคลองปลาก้าง ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน ถ้าหากดูผลจากสถิติของนักท่องเที่ยวปี 2559 -2562 มีนักท่องเที่ยวถึง ปีละ 8 ล้านคน
นายพรชัย กล่าวถึงปัญหาในพื้นที่ของอุทยานฯ คือเรื่อง ช้างป่า ที่ออกหากินตามพืชสวนไร่ของราษฎร ทางเจ้าหน้าที่จึงต้องทำความเข้าใจกับชุมชน เพื่อไม่ให้ทำร้ายช้าง โดยการจัดทำโครงการป้องกันช้างป่า มีการประชุมร่วมกันเพื่อหาทางออก นอกจากนี้ทางอุทยานฯ ยังส่งเสริมโครงการประชาคมเศรษฐกิจพอเพียงให้กับชุมชน ด้วยการปลูกป่า เพิ่มพื้นที่ป่าไม้เสื่อมโทรม โดยการแจกกล้าไม้ให้กับชุมชน ปลูกผักปลอดสาร และเฝ้าระวังไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่ม พร้อมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ลาดตระเวณเชิงคุณภาพ (smart patrol ) ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ เพิ่มศักยภาพในการป้องกัน ปราบปราม รวมถึงการจัดการพื้นที่ โดยอุทยานฯทำข้อตกลงกับกระทรวงศึกษาธิการให้นักเรียนมาช่วยงานอุทยานฯ ในช่วงเวลาว่าง โดยการจัดสรรงบประมาณของอุทยานฯ พร้อมทั้งอบรมลูกเสือพิทักษ์ป่า เพื่อสร้างแนวร่วม สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ป่าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ในภาคตะวันออก คือ
“โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ไปทรงเปิดการประชุมคณะกรรมการโครงการดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกของช้างป่า เนื่องจากการขาดแหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัยไม่พอเพียง ตลอดจนการขาดความรู้และความเข้าใจของราษฎร ขาดเรื่องระบบการเตือนภัย การไปขับไล่ช้างอย่างผิดวิธี จนทำให้เกิดอันตรายในที่สุด โดยการวางแผนพัฒนาชุมชน ให้สามารถทำมาหากินอยู่ร่วมกับช้างได้อย่างมีความสุข โดยไม่ทำลายระบบนิเวศหรือบุกรุกทำลายป่า