กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รณรงค์ให้คนไทยรักผืนป่า กับ “โครงการสร้างจิตสำนึกรักษา ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ในโอกาส ๖๐ พรรษามหาจักรีสิรินธร พ.ศ.๒๕๕๘” ณ อุทยานแห่งชาติขุนน่าน จังหวัดน่าน

0
338
image_pdfimage_printPrint

25

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยในทรัพยากรป่าไม้ ป่าต้นน้ำ ซึ่งขณะนี้เกิดความไม่สมดุลของธรรมชาติ หลายพื้นที่ป่ามีสภาพเสื่อมโทรมและลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้จัด “โครงการสร้างจิตสำนึกรักษา ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ในโอกาส ๖๐ พรรษามหาจักรีสิรินธร พ.ศ.๒๕๕๘” ขึ้น ซึ่งจะจัดกิจกรรมกระจายตามภูมิภาคต่างๆ ๔ จังหวัดด้วย
นายสมัคร ดอนนาปี ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องในโอกาส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงจัดให้มี “โครงการ สร้างจิตสำนึกรักษา ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ในโอกาส ๖๐ พรรษามหาจักรีสิรินธร พ.ศ.๒๕๕๘” ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมสร้างการรับรู้ รณรงค์ สร้างจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การปลูกป่าให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงพระราชดำริของพระองค์ท่าน ผ่านการจัดกิจกรรมในภูมิภาคต่างๆ
กล่าวถึงกิจกรรม “โครงการสร้างจิตสำนึกรักษา ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ในโอกาส ๖๐ พรรษามหาจักรีสิรินธร พ.ศ.๒๕๕๘” จะประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรม ๔ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน จังหวัดเลย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยจะเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์โครงการฯ ผ่านกิจกรรม นิทรรศการซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะทรงงานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่สำคัญคือ การปลูกป่า โดยกำหนดในอีก ๓ จังหวัด จังหวัดเลย วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ ณ อุทยานแห่งชาติภูเรือ ,จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินท์นนท์ และจังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง”
ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะมอบทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนที่เรียนดีแต่ด้อยโอกาส พร้อมทั้งมอบอุปกรณ์กีฬา – อุปกรณ์การเรียน ให้โรงเรียนอีกด้วย ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ขอเชิญชวนประชาชนทุกคน ร่วมกันให้ความสำคัญกับการรักษา ฟื้นฟูป่าไม้ เพื่ออนาคตของประเทศชาติ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการฯได้ที่ facebook page : “โครงการสร้างจิตสำนึกรักษา ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ”
ด้าน นายสว่าง กองอินทร์ ผู้อำนวยการสำนักสนองงานพระราชดำริ กล่าวเสริมถึง “โครงการสร้างจิตสำนึกรักษา ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ในโอกาส ๖๐ พรรษามหาจักรีสิรินธร พ.ศ.๒๕๕๘” ว่า เนื่องด้วยพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ทรงให้แนวทางการดำเนินงาน คือ
๑) การปลูกป่าในใจคน คือต้องทำความเข้าใจกับราษฎรให้รู้ถึงประโยชน์ของป่า และการอยู่ร่วมกับป่าอย่างพึ่งพาอาศัยกัน
๒) คนอยู่กับป่า มุ่งเน้นให้คนอยู่ร่วมกับป่า ได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน คน ไม่ทำลายป่า และทำการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายให้มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น
๓) ด้านสัตว์ป่า ทรงห่วงใยในเรื่องปัญหาช้างป่า ช้างควรอยู่ในป่าเพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารให้ช้างเพียงพอ จึงให้สร้างอาหารในป่าเพื่อไม่ให้ช้างออกมาสร้างความเดือดร้อนและเพื่อให้ช้างปลอดภัย
๔) การให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนเมื่อมีความรู้ ได้ศึกษาธรรมชาติและจะเห็นคุณค่า รักและไม่ทำลายป่า
๕) การสร้างป่าสร้างรายได้ ปลูกป่าร่วมกับไม้ที่มีรายได้ ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพร ชา กาแฟ ที่ขึ้นอยู่ร่วมกัน และสิ่งที่ต่างๆ ที่ทำเพื่อกิน
๖) การอนุรักษ์พรรณพืช ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วมโครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์ เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการและการอนุรักษ์พรรณพืชของไทยในอนาคต ในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ การศึกษาวิจัยพรรณพฤกษชาติ
ทั้งนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการดำเนินงานสนองพระราชดำริ ตามทิศทางที่พระองค์ทรงให้ไว้ จึงเป็นที่มาของ โครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมการปลูกหวายและไผ่
เนื่องจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเยี่ยมราษฎร บริเวณโรงสีข้าวพระราชทาน ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ได้มีราษฎรกลุ่มจักสานหวายบ้านดอนตัน ทูลเกล้าฯ ถวายขันโตก ทรงตรัสถามในเรื่องของวัตถุดิบที่นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ และการดำเนินการของกลุ่มจักสานหวายดังกล่าว ทำให้ทรงทราบว่าปริมาณของหวายในพื้นที่ มีไม่เพียงพอที่จะมาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่พื้นที่ป่าในจังหวัดน่านเป็นพื้นที่ต้นน้ำ น่าที่จะมีหวายพันธุ์พื้นเมืองขึ้นอยู่ในพื้นที่อย่างหนาแน่นอยู่แล้ว จึงมีพระราชดำริกับคุณหญิงอารยา พิบูลนครินทร์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่าน่าที่จะมีหน่วยงานเข้ามาดำเนินการในเรื่องการอนุรักษ์ ฟื้นฟูพันธุ์หวายพื้นเมือง รวมทั้งการสืบสานอาชีพการจักสานหวายของคนในท้องถิ่นจังหวัดน่าน เนื่องจากราษฎรในท้องถิ่นมีความรู้ความสามารถในการจัดสานหวาย สามารถที่จะส่งเสริมเป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้และทำให้ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้มีการจัดตั้งโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมการปลูกหวายและไผ่ จังหวัดน่าน ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ณ บ้านแหน ๑ ตำบลผาทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน โดยสังกัด ส่วนประสานงานโครงการพระราชดำริ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๓ (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานของโครงการฯ
ด้านดารา นักแสดงสาว “แพท – ณปภา ตันตระกูล” เป็นตัวแทนกลุ่มวัยรุ่น เยาวชน ที่มาร่วมกิจกรรมเพื่อการประชาสัมพันธ์ ตลอดโครงการฯ กล่าวว่า “แพท ดีใจมากนะคะ ที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ครั้งนี้ ครอบครัวแพท คุณพ่อ-คุณแม่ สอนแพทมาตั้งแต่เด็กๆเลย เรื่องการรักษาธรรมชาติ แพทโชคดีคะ ที่ครอบครัวพาไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ทั่วเมืองไทยมาตลอด มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติที่สวยงาม เวลาไปเราก็จะช่วยกันดูแล ไม่ทำให้ทัศนียภาพที่สร้างความสุขให้กับเราเสียไป แพทเชื่อนะคะว่า ทุกคนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ชอบธรรมชาติ ก็อยากฝากให้ร่วมกันดูแล และเป็นหูเป็นตา เพื่อให้ป่าไม้อยู่กับเราไปนานๆ ฝากติดตามข่าวสารของโครงการฯ และไปร่วมสนุกกับแพทได้ อีก ๓ จังหวัดเลยนะคะ