กรมอุทยานฯ มุ่งพัฒนา 155 อุทยานทั่วประเทศสู่ระดับสากล ผนึกกำลังปกป้องผืนป่า
กรมอุทยานฯ มุ่งพัฒนา 155 อุทยานทั่วประเทศสู่ระดับสากล ผนึกกำลังปกป้องผืนป่า
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า กรมอุทยานฯ ดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศประมาณ 73 ล้านไร่ มีอุทยานแห่งชาติ 155 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 60 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 78 แห่ง โดยมีภารกิจสำคัญในการป้องกันพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีอยู่ และฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมให้กลับมาสมบูรณ์ ส่วนการจัดการเรื่องคนอยู่กับป่า กรมอุทยานฯ ได้กำหนดให้ปี 2562 – 2563 จะต้องสำรวจและบริหารจัดการพื้นที่ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินราษฎรให้แล้วเสร็จ สิ่งสำคัญคือการปลุกจิตสำนึกให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรท้องถิ่นไว้
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันในเรื่องของการปกป้องพื้นที่ป่าอนุรักษ์ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง กรมอุทยานฯ ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Smart Patrol System ที่นำเทคโนโลยีโดรนและกล้องตรวจจับภาพติดตั้งแนวป่าช่วยเสริมประสิทธิภาพในการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยาน การใช้โดรนพร้อมกล้องตรวจจับความร้อนเพื่อป้องกันไฟป่า ศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า Smart Early Warning System ที่มีระบบกล้องเซนเซอร์เตือนภัยช้างป่าก่อนลงมาทำลายพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งจะนำร่องในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี นอกจากนี้ยังมีการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) เป็นระบบการเดินลาดตระเวนอย่างเป็นระบบ เพิ่มศักยภาพในการป้องกันปราบปรามและการจัดการพื้นที่ โดยการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อวางแผนลาดตระเวน การเก็บข้อมูล วิเคราะห์ประมวลผลในมาตรฐานเดียวกันทุกที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ทุกคนล้วนแต่ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุดเพื่อปกป้องรักษาผืนป่าของไทยไว้ สำหรับการยกระดับพัฒนาอุทยานแห่งชาติ ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ในด้านยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู และใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม โดยบูรณาการและสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนทั้งในและระหว่างประเทศ พร้อมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถเชิงรุกขององค์กร พัฒนาระบบกลไก และฐานข้อมูล ในการบริหารจัดการ รวมทั้งปรับปรุงและบังคับในกฎหมายอย่างเป็นธรรม เพื่อพัฒนาอุทยานแห่งชาติของไทยสู่ความเป็นสากลอย่างยั่งยืน อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวย้ำ
ด้าน ดร. ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า กล่าวเสริมว่า ต่อไปอุทยานแห่งชาติ ทั่วประเทศจะต้องก้าวสู่ความเป็นสากล และยกระดับพื้นที่อุทยานแห่งชาติให้ได้มาตรฐานโลก ขณะเดียวกันต้องปกป้องรักษาผืนป่าไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ มีเนื้อที่รวมประมาณ 3.8 ล้านไร่ ประกอบด้วย พื้นที่อนุรักษ์ 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ล้วนมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสัตว์ป่าและพืชป่าหายากหลากหลายชนิด อย่างอุทยานแห่งชาติปางสีดา ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองผีเสื้อแห่งผืนป่าภาคตะวันออก ซึ่งมีผีเสื้อหลากหลายกว่า 500 สายพันธุ์ และอุทยานแห่งนี้มีความหลากหลายในเรื่องของภูมิประเทศ มีความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้และสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำและบนบก จึงทำให้มีพืชอาหารหลากหลายให้กับผีเสื้อที่อาศัยในบริเวณป่าผืนนี้ ส่วนจุดชมผีเสื้อที่สวยงามที่สุดในอุทยานฯปางสีดา ต้องเป็นที่ลานหินดาด มีธารน้ำไหลตลอดปี ส่วนอีกที่คือ โป่งผีเสื้อ หรือที่นักท่องเที่ยวเรียกว่า โป่งรับแขก เป็นพื้นที่สำหรับเสริมแร่ธาตุให้กับผีเสื้อ นับเป็นจุดที่ให้นักท่องเที่ยวและเยาวชนได้ศึกษาวงจรชีวิตของผีเสื้อ
อุทยานแห่งชาติตาพระยา ได้บูรณาการอนุรักษ์ พิทักษ์ป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาลักลอบตัดไม้พะยูง ซึ่งอุทยานฯตาพระยา ได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงและเฝ้าระวังภัยคุกคาม ออกลาดตระเวนอย่างเข้มข้นครอบคลุมทุกพื้นที่ ขณะเดียวกันก็มีโครงการฟื้นฟูไม้พะยูงกว่าหมื่นไร่ อีกทั้งยังได้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว อาทิ จุดชมวิวผาแดง, บริเวณเขายักษ์ เขาละลุ และจุดชมวิวเทือกเขาบรรทัด อีกด้วย ส่วนที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของมรดกโลกทางธรรมชาติ ดงพยาเย็น – เขาใหญ่ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชหายาก หรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย อุทยานฯทับลาน จึงได้เข้มงวดเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่า และเดินหน้าถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภายใต้กรอบกติกาที่วางร่วมกัน
พื้นที่เหล่านี้ถือเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติของไทย ไม่เพียงแต่จัดการเรื่องการท่องเที่ยว แต่ยังต้องเน้นการอนุรักษ์ระบบนิเวศดั้งเดิม และการปกป้องผืนป่าตามนโยบายของรัฐที่เน้นการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้มีความเพียงพอและรักษาสมดุลระบบนิเวศดั้งเดิม เนื่องจากอุทยานแห่งชาติมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ดร. ทรงธรรม กล่าวปิดท้าย
//////////////////////////////////////