กรมศุลฯแจงเงินสินบนกฏหมายใหม่ปรับน้อยลง
หลังจากสื่อมวลชนให้ความสนใจกรณีเงินสินบนและเงินรางวัลและกรณีพิพาทระหว่างกรมศุลกากรกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่งถูกกล่าวหาว่าหลบเลี่ยงภาษีเป็นจำนวนเงินมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ล่าสุดกรมศุลกากร ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเลขที่ กค.ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ลงนามโดย นางสาวภัทริยา กุลชล ผู้อำนวยการกลุ่มคุ้มครองและส่งเสริมจริยธรรม ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากร ขอชี้แจงประเด็นที่เป็นข่าวดังนี้
ประเด็นที่ 1.กรณีเงินสินบนและเงินรางวัล เงินรางวัลที่สังคมมีความคลางแคลงใจมาเป็นเวลานาน ดังนั้นในการจัดทำ พรบ.ศุลกากร พ.ศ.2560ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ ได้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์และปรับลดการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลจากเดิมที่มีการจ่ายร้อยละ 55 จากเงินค่าปรับและไม่มีการกำหนดเพดานการจ่ายเงินไว้ ทำให้ไม่เกิดความยุติธรรมเป็นการจ่ายเงินรางวัลร้อยละ 20 และเงินสินบนร้อยละ 20 (ให้มีการจ่ายได้เฉพาะของที่ลักลอบนำเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฏหมายเท่านั้น)โดยหักจ่ายจากเงินค่าขายของกลางหรือหักจ่ายจากเงินค่าปรับในกรณีที่ไม่สามารถจำหน่ายของกลางได้
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเพดานโดยกำหนดให้หักจ่ายเป็นเงินสินบนได้ไม่เกินคดีละ 5 ล้านบาทและหักจ่ายเป็นเงินรางวัลได้ไม่เกินคดีละ 5 ล้านบาทและไม่สามารถแบ่งคดีเดียวให้เป็นคดีย่อยๆได้
นายสมผล ตระกูลรุ่ง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ พรบ.ศุลกากร กล่าวว่าก่อนที่จะแก้ไขปรับเปลี่ยน พรบ.ศุลกากร 2560 ว่าไปแล้วในบรรดาหน่วยงานที่ได้รับเงินรางวัลนำจับกรมศุลกากรเป็นหน่วยงานที่ได้มากที่สุด ยิ่งเศรษฐกิจดี การนำเข้า-ส่งออกมาก รายได้ยิ่งมาก เพราะอัตราเงินสินบน- รางวัลนำจับ สูงถึง 55 %ได้มากกว่าภาษีเข้าคลังเสียอีก
มีผู้รวบรวมจำนวนเงินรางวัลนำจับของกรมศุลกากรไว้ในช่วงเวลา 12 ปี ระหว่างปี 2542 – 2553 มีผู้ประกอบการยอมจ่ายค่าปรับให้กรมศุลกากร คิดเป็นเงินกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท จึงเป็นเงินรางวัลนำจับให้เจ้าหน้าที่และสายสืบ เป็นเงินมากกว่า 15,343 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ที่ได้รับเงินจำนวนนี้ไม่เกิน 300 คน ส่วนสายสืบนั้นไม่มีข้อมูล
มีแต่เสียงล่ำลือหนาหูว่าสายสืบส่วนใหญ่ไม่มีจริง ที่เห็นนั้นเป็นสายสืบเทียมแม้การตามเรียกเก็บภาษีจะไม่มีสายสืบ แต่เจ้าหน้าที่ก็จะสร้างสายสืบขึ้นมารับ เพื่อให้ได้เงินสินบน-รางวัลนำจับครบ 55%
เงินสินบน-เงินสินบนรางวัลนำจับ กฎหมายไม่ได้จำกัดว่าต้องมาจากการเสี่ยงชีวิตกลางทะเลหรือตะเข็บชายแดนตามป่าเขา ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรกลุ่มหนึ่ง จึงใช้วิธีการจับผิดแทนการจับกุม เพียงแต่หากสามารถตีความให้ผิดได้แม้จะเป็นการตีความแบบแบบศรีธนญชัย ก็จะเรียกประเมินภาษี เพราะรู้ดีว่าผู้ประกอบการไม่อยากมีเรื่องกับกรมศุลกากร
ประเด็นที่ 2. กรมศุลกากรได้ชี้แจงกรณีพิพาทการเรียกค่าภาษีอากรกว่าหมื่นล้านบาทระหว่างค่ายรถยนต์หนึ่งกับกรมศุลกากรนั้นเป็นคดีเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2555 และได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลในปี พ.ศ.2558 ปัจจุบันคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งคู่กรณีมีสิทธิ เสรีภาพ และมีศักยภาพในการต่อสู้คดีและดำเนินคดี
ผู้เชี่ยวชาญ พรบ’ศุลกากร กล่าวต่อไปว่า ด้วยจำนวนเงินค่าปรับมีมูลค่ามหาศาลประกอบกับค่ายรถยนต์ดังกล่าวถือเป็นค่ายรถยนต์ระดับโลก สื่อมวลชนต่างชาติโดยเฉพาะชาติคู่กรณี จับตาเป็นพิเศษ เหตุเพราะผลการตัดสินจะออกมาอย่างไร ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความเชื่อมั่น และเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่สำคัญความฝันต่อยอดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของ พลเอกประยุทธ นายกรัฐมนตรีอาจไปไม่ถึงฝั่ง
หากเป็นกรณีเจตนาชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ก็น่าสรรเสริญ แต่หากมีเจตนาตีความเพื่อให้ผู้ประกอบการสุจริตต้องเสียภาษี โดยใช้อำนาจตามกฎหมาย ตีความให้เป็นความผิด คดีดังกล่าวสังคมและผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะไม่ว่าคำพิพากษาศาลจะออกมาเป็นเช่นไร ภาครัฐก็เกิดความเสียหาย
“คงต้องให้ความเป็นธรรมกับทางเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและค่ายรถยนต์ ถ้ามีการหลีกเลี่ยงภาษีจริงค่ายรถยนต์ก็ต้องรับผิดชอบ แต่หากไม่ใช่การเลี่ยงภาษี เจ้าหน้าที่ผู้ประเมินจะรับผิดชอบอย่างไร ถ้าค่ายรถยนต์แพ้ต้องใช้เงินจำนวนมากขนาดนี้ คงย้ายฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านที่พร้อมจะรับการลงทุนอภิมหาโปรเจกต์ขนาดนี้ เพราะเหตุผลคงไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ค่ายรถยนต์ระดับโลกดังกล่าว ไม่อาจยอมรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรได้”
ผู้เชี่ยวชาญ พรบ.ศุลกากร กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ถ้าชนะจะได้รับเงินรางวัลนำจับหลายพันล้านบาท แม้จะแบ่งให้อธิบดีหลายคนทั้งในอดีตและปัจจุบันตามบัญชี แม้จะแบ่งกันทั้งกรมก็คงมีเงินเหลือเป็นกอบเป็นกำ แต่ถ้าแพ้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติก็รับราชการกินเงินเดือนจากภาษีอากรต่อไป โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แถมได้ความดีความชอบไป แล้วด้วยเหตุผลอย่างนี้ จึงทำให้เจ้าหน้าที่บางกลุ่มบางพวกขยันจนเกินเหตุ
การขยันโดยทุจริตของข้าราชการบางคน ขอเน้นว่าบางคน เพราะคนที่ดีๆยังมีอยู่ก็เยอะ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการผู้สุจริตจำนวนมาก เท่าที่ทราบผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ลงทุนด้านอุตสาหกรรมรายใหญ่ จำใจยอมเสียภาษีและค่าปรับจากขบวนการเหล่านี้มานานแล้ว จนปัจจุบันจำนวนภาษีที่ถูกเรียกร้องมีจำนวนสูงมาก ดังกรณีรายค่ายรถยนต์ดังกล่าว ซึ่งจะเป็นกรณีศึกษาที่ภาครัฐจะต้องลงมาปฏิรูประบบการทำงานของกรมศุลกากรให้โปร่งใส
ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหานี้สามารถแก้ไขโดยผู้บริหารของกรมศุลกากรได้มานานแล้ว แต่ใครก็ตามที่แม้จะรู้ปัญหา พอเข้ารับตำแหน่งก็จะมีชื่อเป็นผู้รับผลประโยชน์ก้อนโตจากรางวัลนำจับ ก็จะมองไม่เห็นปัญหาไม่คิดจะแก้ไข ไม่ยับยั้งขบวนการที่เป็นเหลือบในกรมศุลกากร แม้จะมีอำนาจแก้ไขได้ก็ตาม
เงินรางวัลนำจับจึงเป็นดาบ 2 คมในแง่ดีเป็นการกระตุ้นให้ข้าราชการขยันทำงาน แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งจะทำให้เกิดการใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบของข้าราชการที่มีความโลภ เป็นการใช้กฎหมายใช้อำนาจหน้าที่ตามอำเภอใจ ผลร้ายจะตกกับประเทศที่ทำให้ผู้ประกอบการเห็นว่าข้าราชการไทยไม่มีมาตรฐานในการทำงานถ้าเป็นอย่างนี้คงไม่มีใครอยากจะมาลงทุนเป็นแน่