กรมวิทย์ฯ จับมือเอกชนสนับสนุนชุดทดสอบอัลฟ่าธาลัสซีเมีย 1 โกอินเตอร์ เตรียมส่งออกต่างประเทศ

0
400
image_pdfimage_printPrint

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชุดทดสอบตรวจความผิดปกติ ของยีนอัลฟ่าธาลัสซีเมีย 1 (Alpha-thalassemia 1) และมอบหนังสืออนุญาตให้กับบริษัท ยีน เอ็กซ์เซลเลนส์ จำกัด ผลิตและจำหน่ายชุดทดสอบนอกราชอาณาจักรไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมการส่งออกและเพิ่มศักยภาพของชุดทดสอบ เข้าถึงช่องทางการให้บริการการใช้ชุดทดสอบให้มากยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน รวมถึงเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพตามนโยบายของรัฐบาลและนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ได้ทำการศึกษาวิจัยชุดทดสอบความผิดปกติของยีนอัลฟ่าธาลัสซีเมีย 1 ใช้สำหรับประเมินความเสี่ยงหญิงตั้งครรภ์และคู่สมรสว่าบุตรที่จะเกิดมามีโอกาสเป็นโรค Hb Bart’s Hydrops Fetalis หรือไม่ โรคนี้เกิดจากการได้รับยีน แอลฟ่าธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงมาจากทั้งพ่อและแม่ ซึ่งจะทำให้เด็กไม่สามารถสร้างสายโกลบิน ชนิดแอลฟ่าได้เลย ส่งผลให้เด็ก เกิดอาการซีดและบวม (hydrops) ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่จนครรภ์ใกล้ครบกำหนด เด็กจะเสียชีวิตในท้องหรือหลังคลอดออกมาได้ไม่กี่นาที ถือเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงที่สุด และเป็น 1 ใน 3 โรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงตามเป้าหมายในคำประกาศนโยบายส่งเสริมป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติของประเทศไทย ชุดน้ำยาที่ใช้ในชุดทดสอบดังกล่าวเป็นชุดน้ำยา ที่ใช้สำหรับตรวจวินิจฉัยอัลฟ่าธาลัสซีเมีย 1 ที่มีรายงานในประชากรไทยได้ครบ 2 ชนิด คือ ชนิด Southeast Asean (SEA) และชนิดไทย ด้วยเทคนิค Relative Quantitative PCR โดยอาศัยหลักการการเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอ นับเป็นนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งแรกของโลกที่สามารถตรวจหาความผิดปกติของยีนอัลฟ่าธาลัสซีเมีย 1 ทั้ง 2 ชนิดได้ในคราวเดียวกัน ช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาการตรวจจาก 6 ชั่วโมง เหลือเพียง 3 ชั่วโมง ในหนึ่งชุดน้ำยาประกอบด้วย Primer 3 คู่ Probe 3 ชนิด และน้ำยา 2X Real-time PCR Master Mix สำหรับรหัสสินค้า Thal 001 หรือชุดน้ำยาประกอบด้วย Primer 3 คู่ Probe 3 ชนิด สำหรับรหัสสินค้า Thal 002
โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2552-2560 มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่นำชุดทดสอบดังกล่าวไปใช้ประโยชน์แล้วจำนวนกว่า 155,600 การทดสอบ รวมมูลค่า 12,448,000 บาท และในปี พ.ศ.2560 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ลงนามสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชุดทดสอบตรวจความผิดปกติของยีนอัลฟ่าธาลัสซีเมีย 1 ให้กับบริษัท ยีน เอ็กซ์เซลเลนส์ จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ภายใต้การดูแลองค์ความรู้และด้านเทคโนโลยีของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อเพิ่มศักยภาพของชุดทดสอบและเพิ่มช่องทางการให้บริการกับหน่วยงานที่มีความประสงค์ในการใช้ชุดทดสอบให้มากยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน
“ในปี พ.ศ.2562 นี้ ทางบริษัท ยีน เอ็กซ์เซลเลนส์ จำกัด มีความประสงค์จะนำชุดทดสอบตรวจความผิดปกติของยีน Alpha-thalassemia 1 ไปจำหน่ายเชิงพาณิชย์นอกราชอาณาจักรไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมการส่งออก เพิ่มช่องการจำหน่าย ขยายขอบเขตการเผยแพร่ให้ชุดทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รอง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงอนุญาตให้ทางบริษัท ยีน เอ็กซ์เซลเลนส์ จำกัด จำหน่ายชุดทดสอบดังกล่าวนอกราชอาณาจักรไทย และได้มอบหนังสืออนุญาตให้บริษัท ยีน เอ็กเซลเลนส์ จำกัด จำหน่ายชุดทดสอบ Alpha-thalasemia 1 นอกราชอาณาจักรไทย” นายแพทย์โอภาส กล่าว