กรมวิทย์ฯ จัดทำ GREEN BOOK 2020 ผ่าน Mobile application “GREEN BOOK DMSC” สนับสนุนการใช้ยาที่ผลิตภายในประเทศ

0
653
image_pdfimage_printPrint

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้รวบรวมข้อมูลยาที่มีผลการตรวจวิเคราะห์เข้ามาตรฐาน ตามเกณฑ์การคัดเลือกจากโครงการประกันคุณภาพยา (กล่าวคือยาต้องผ่านมาตรฐาน 3 รุ่นผลิตขึ้นไป โดยไม่มีรุ่นผลิตใดที่ตกมาตรฐาน) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545–2562 จัดทำเป็นหนังสือ GREEN BOOK 2020 ประกอบด้วยรายการยา 378 รายการ และที่สำคัญใน GREEN BOOK เล่มนี้มีรายการยาสมุนไพรที่มีใช้ในโรงพยาบาล และรายการยาชีววัตถุ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทยในการดูแลรักษาสุขภาพ การเลือกชีววัตถุที่เข้ามาตรฐานในราคาที่สมเหตุผล รวมถึงข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประกอบการจัดซื้อยาของภาครัฐ สนับสนุนการใช้ยาที่ผลิตภายในประเทศ และช่วยลดรายจ่ายของประเทศในเรื่องของการจัดซื้อยา
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า นับเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดูแลคุณภาพยาที่ใช้ในโรงพยาบาล ภายใต้ “โครงการประกันคุณภาพยา”โดยสุ่มตัวอย่างยาจากโรงพยาบาลทั่วประเทศมาตรวจสอบคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวนตัวอย่างยาที่ตรวจวิเคราะห์ไปแล้วกว่า 20,000 ตัวอย่าง ยาที่สุ่มตรวจนั้นเป็นยาที่มีปริมาณ หรือมูลค่าการใช้สูง ยาที่สงสัยหรือพบว่ามีปัญหาด้านคุณภาพ ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาช่วยชีวิต ยาที่มีดัชนีการรักษาแคบ ยาที่มีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์มาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์ โดยครอบคลุมทั้งยาแผนปัจจุบันที่ผลิตในประเทศ ยานำเข้าจากต่างประเทศ ชีววัตถุ และยาสมุนไพร
ในปี พ.ศ. 2563 นี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักยาและวัตถุเสพติด ได้รวบรวมข้อมูลยาที่มีผลการตรวจวิเคราะห์เข้ามาตรฐานตามเกณฑ์การคัดเลือกจากโครงการประกันคุณภาพยา (กล่าวคือยาต้องผ่านมาตรฐาน 3 รุ่นผลิตขึ้นไป โดยไม่มีรุ่นผลิตใดที่ตกมาตรฐาน) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 – 2562 มาจัดทำเป็นหนังสือ GREEN BOOK 2020 ประกอบด้วยรายการยา 378 รายการ ที่สำคัญคือใน GREEN BOOK เล่มนี้ มียาสมุนไพร ได้แก่ ขมิ้นชันแคปซูล ฟ้าทะลายโจรแคปซูล เจลพริก ซึ่งเป็นรายการยาสมุนไพรที่มีใช้ในโรงพยาบาล ทั้งนี้เพื่อช่วยส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทยในการดูแลรักษาสุขภาพ และยังช่วยสนับสนุนผู้ผลิตยาสมุนไพรให้สามารถผลิตยาได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น และใน GREEN BOOK 2020 ยังมีรายการยาชีววัตถุ (biopharamaceutical products) ซึ่งเป็นโปรตีนเพื่อการบำบัดรักษา เช่น erythropoietin (epoetin), filgrastim, heparin, insulin ซึ่งมีขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อนและแตกต่างจากยาที่ผลิตจากสารเคมี ทำให้มีราคาแพงมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายนี้ได้ ดังนั้นข้อมูลยาชีววัตถุใน GREEN BOOK 2020 จึงช่วยให้แพทย์และเภสัชกรสามารถเลือกชีววัตถุที่เข้ามาตรฐานในราคาที่สมเหตุผล นอกจากนี้ข้อมูลใน GREEN BOOK ยังถูกนำไปใช้ประกอบการจัดซื้อยาของภาครัฐ ช่วยลดรายจ่ายของประเทศในเรื่องของการจัดซื้อยา
“บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป สามารถดูรายการยาที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ ได้หลายช่องทาง เช่น Mobile application “GREEN BOOK DMSC” ทั้ง android และ iOS ซึ่งสามารถใช้งานได้ทันทีหลังจากติดตั้ง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และไม่ต้องสมัครสมาชิกหรือสืบค้นทางเว็บไซต์ https://bdn.go.th/th/ebook ก็ได้เช่นกัน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และระบบสุขภาพของประเทศ” นายแพทย์โอภาส กล่าว