กรมวิทย์ฯโชว์ 3 ผลงานเด่น คว้ารางวัล DMSc Award ประจำปี 2562

0
897
image_pdfimage_printPrint

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 27 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้คัดเลือกผลงาน เพื่อมอบรางวัล DMSc Award ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนักวิจัยมีเวทีส่งผลงานเข้าประกวด โดยมีผลงานชนะเลิศทั้งหมด 3 รางวัล ได้แก่ ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประเภทการพัฒนาบริการหรือพัฒนาคุณภาพบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และประเภทหนังสือ/ตำราทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และในปีนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงโปรดให้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.คุณหญิงมธุรส รุจิรวัฒน์ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิจัยและวิชาการ เป็นผู้แทนพระองค์มอบรางวัลดังกล่าว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ ผู้ได้รับรางวัลประเภทงานวิจัยและพัฒนา ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ ดร.ณัฏฐิกา แสงกฤช ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ จากผลงานการประดิษฐ์อนุภาคนาโนสำหรับการตรวจวินิจฉัยพร้อมการนำส่งยารักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่สมอง จากผลการวิจัยเบื้องต้นในสัตว์ทดลองยืนยันประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยแบบจำเพาะกับสมองหนู ผลการทดลองพบสัญญาณของ MRI ชัดเจนที่บริเวณเป้าหมายว่าระบบที่ออกแบบสามารถผ่าน blood brain barrier ได้ แสดงให้เห็นว่าระบบนำส่งนาโนชนิดนี้มีศักยภาพที่จะต่อยอดการวิจัยเพื่อใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระบบประสาทส่วนกลาง และโรคความบกพร่องทางสมองชนิดอื่นๆ ได้ต่อไป
รางวัลประเภทการพัฒนาบริการหรือพัฒนาคุณภาพบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ นายไพรัตน์ จำบัวขาว กลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลบ้านเหลื่อม จ.นครราชสีมา เรื่อง “นวัตกรรม LAB 4.0” โดยได้พัฒนาระบบคุณภาพทางห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 4 แห่งในอำเภอบ้านเหลื่อม จ.นครราชสีมา ให้ผ่านการประเมินรับรองเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลติดดาว (รพ.สต.ติดดาว) ได้ ร้อยละ 100 ซึ่งเป็นการริเริ่มการพัฒนาระบบคุณภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อให้เกิดคุณภาพในการตรวจวินิจฉัยโรคแก่ประชาชนในพื้นที่
สำหรับรางวัลประเภทหนังสือ/ตำราทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “โรคสมาธิสั้น” โดยรวบรวมงานวิจัยและประสบการณ์ของผู้เขียนในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นกว่า 20 ปี ร่วมกับการทบทวนผลงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นจำนวนกว่า 1,000 เรื่อง และตำราต่างประเทศที่ทันสมัยหลายเล่ม ซึ่งหนังสือดังกล่าวใช้สำหรับอ้างอิง ในการดูแลผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น และสามารถนำไปประกอบการเรียนการสอนในวิชาจิตเวชศาสตร์สำหรับนักศึกษา นอกจากนี้เนื้อหาในบางบทยังเป็นประโยชน์สำหรับผู้ปกครองและครูที่ต้องการทราบเทคนิคต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในการปรับพฤติกรรมเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ