กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะผู้ปกครองเลือกผลิตภัณฑ์เจลล้างมือให้ปลอดภัยสำหรับเด็กช่วงเปิดเทอม
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ปกครองเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่มีคุณภาพและสอนการใช้ที่ถูกต้องให้กับบุตรหลานในช่วงเปิดเทอมเพื่อป้องกันโรค พร้อมเผยพบผลิตภัณฑ์ เจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือมีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดและพบเมทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงโดยการดูดซึมผ่านทางผิวหนังและลมหายใจ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า โรงเรียนใกล้จะเปิดเทอมแล้วในขณะที่ยังคงมีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อและการติดเชื้ออย่างเข้มงวด สำหรับนักเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็ก ซึ่งยังไม่มีความพร้อมในการดูแลตนเองได้ จะมารวมกลุ่มเรียนและเล่นด้วยกันวันละหลายชั่วโมง จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการดูแลระมัดระวังเป็นพิเศษ หากไม่สามารถให้ล้างมือบ่อยๆได้การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่มีคุณภาพ และการใช้ที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กปลอดภัยและปลอดโรค ดังนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และวิธีการใช้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ผู้ซื้อต้องดูฉลากผลิตภัณฑ์ ซึ่งระบุข้อมูลสำคัญเช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อและที่อยู่ผู้ผลิต วันที่ผลิต วิธีใช้ คำเตือนและต้องมีเลขที่ใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาออกให้แก่ผู้ประกอบการผลิตตามเงื่อนไขที่กำหนด หากไม่แน่ใจสามารถตรวจสอบเลขที่ใบรับจดแจ้งได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทั้งนี้แอลกอฮอล์เจลควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อป้องกันการระเหยและการเปิดภาชนะบ่อยๆ ทำให้ปริมาณความเข้มข้นแอลกอฮอล์ลดลง จนอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อลดลง สำหรับวิธีการใช้แอลกอฮอล์เจลต้องระมัดระวัง เนื่องจากเป็นสารที่ระเหยได้ง่าย เมื่อหยดเจลลงบนฝ่ามือแล้วควรยื่นมือให้ออกห่างจากใบหน้าและลำตัวเพื่อป้องกันไอระเหยเข้าสู่จมูกและตา หรือหันหน้าออกไม่ให้รับไอระเหยโดยตรง ถูให้ทั่วทั้งฝ่ามือ หลังมือ ซอกนิ้วและเล็บ แล้วปล่อยให้ระเหยหมดก่อน ที่จะไปสัมผัสส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งนี้ควรใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้นเช่นการอยู่นอกสถานที่ ซึ่งไม่มีน้ำและสบู่ใช้แล้วปิดฝาให้สนิททุกครั้ง เก็บให้ห่างจากแหล่งความร้อน
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการและผู้ประกอบการได้ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือมาให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ จำนวน 91 ตัวอย่าง โดยทดสอบแอลกอฮอล์ชนิดที่อนุญาตและเมทิลแอลกอฮอล์ พบว่า มีชนิดและปริมาณแอลกอฮอล์ตามที่กำหนด 39 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าที่กำหนดหรือไม่พบแอลกอฮอล์จำนวน 45 ตัวอย่าง (ร้อยละ 49.4) มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่า ที่กำหนดและมีเมทิลแอลกอฮอล์ผสมจำนวน 1 ตัวอย่าง(ร้อยละ 1.1) พบเมทิลแอลกอฮอล์ชนิดเดียวจำนวน 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 6.6) โดยพบเมทิลแอลกอฮอล์ ร้อยละ 35-75 โดยน้ำหนัก ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 70% โดยปริมาตรจัดเป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิตนำเข้าหรือจำหน่าย ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้เมทิลแอลกอฮอล์จัดเป็นเครื่องสำอาง ที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ทั้งสองกรณีมีโทษทั้งจำคุกและปรับต่อผู้ผลิต ผู้นำเข้าและผู้ขาย
“แอลกอฮอล์อาจทำให้ผิวหนังแห้ง ระคายเคืองได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีการแพ้ได้ง่ายและเด็กซึ่งมีผิวหนังบอบบาง และหากเป็นเมทิลแอลกอฮอล์เมื่อเข้าสู่ร่างกายโดยการดูดซึมผ่านทางผิวหนังและลมหายใจ จะทำให้หลอดลม ลำคอ และเยื่อบุตาอักเสบ หากหายใจหรือสัมผัสในปริมาณมากอาจทำให้ปวดท้อง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลําบาก การมองเห็นผิดปกติและอาจตาบอดได้ และเนื่องจากลักษณะภายนอกของเมทิลแอลกอฮอล์ และแอลกอฮอล์ ที่อนุญาตให้ใช้ได้ ไม่มีความแตกต่างกันจึงไม่สามารถตรวจสอบได้จากลักษณะ สี หรือกลิ่น ต้องทดสอบด้วยเทคนิคทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น ดังนั้นผู้ปกครองต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและสอนวิธีการใช้ที่ถูกต้องให้กับบุตรหลาน”นายแพทย์โอภาส กล่าว