กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เดินหน้าพัฒนาสมรรถนะห้องปฏิบัติการเครือข่ายระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาสมรรถนะด้านการตรวจวินิจฉัยเชื้อดื้อยา ของห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาคลินิกโรงพยาบาลเครือข่ายในการตรวจจับเชื้อดื้อยา เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แพทย์ นำข้อมูลไปใช้วางแผนการรักษาโรคได้อย่างต่อเนื่องรวดเร็ว และสนับสนุนการป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยา ตลอดจนลดการป่วยตายจากการดื้อยา
นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัญหาเชื้อแบคทีเรีย ก่อโรคในคนมีแนวโน้มดื้อยาต้านจุลชีพอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โรคติดต่อต่างๆที่เคยควบคุมได้กลับมาระบาด และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเชื้อแบคทีเรียดื้อยาจนครบทุกขนานก็จะไม่มียาใดสามารถรักษาโรคติดเชื้อได้อีกต่อไป การใช้ยาต้านแบคทีเรียที่มากเกินความจำเป็นจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการกลายพันธุ์ได้เร็วขึ้น ในการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยานั้น การตรวจวินิจฉัยเชื้อทางห้องปฏิบัติการ เป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญของการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อดื้อยา รวมทั้งการให้ข้อมูลสนับสนุนการเลือกใช้ยาที่เหมาะสม ดังนั้นการพัฒนาสมรรถนะของเครือข่ายห้องปฏิบัติการให้ทันสมัยสามารถรองรับการตรวจจับเชื้อดื้อยาชนิดสำคัญและชนิดอุบัติใหม่ควบคู่ไปกับคุณภาพของการดำเนินงาน จึงเป็นการสนับสนุนให้ระบบเฝ้าระวังของประเทศมีประสิทธิภาพสามารถรายงานสถานการณ์ปัญหาเชื้อดื้อยาและความไวของเชื้อต่อยาเพื่อประโยชน์ในการรักษาได้อย่างต่อเนื่องรวดเร็ว
รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินโครงการ บูรณาการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมเครือข่ายทั้งสิ้น 101 แห่งจาก 77 จังหวัด ในจำนวนนี้ มีโรงพยาบาลภาครัฐ 91 แห่ง โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 7 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง จากการความร่วมมือของเครือข่ายโรงพยาบาลและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้ศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ (National Antimicrobial Resistance Surveillance, Thailand : NARST) จัดตั้งระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาทางห้องปฏิบัติการที่เป็นระบบฐานข้อมูลของประเทศ อย่างไรก็ดี จากการดำเนินงานที่ผ่านมายังพบปัญหาด้านข้อมูลผลการตรวจวินิจฉัยเชื้อ ผลการทดสอบความไวของเชื้อต่อยา และการจัดทำข้อมูลการตรวจความไวต่อยาของเชื้อชนิดต่างๆ (antibiogram) ของโรงพยาบาลในหลายพื้นที่ยังไม่ครบถ้วน ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การพัฒนาสมรรถนะห้องปฏิบัติการเครือข่ายและระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ” ขึ้น เพื่อพัฒนาสมรรถนะด้านการตรวจวินิจฉัยเชื้อดื้อยาของห้องปฏิบัติการ จุลชีววิทยาคลินิก ทบทวนความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาให้เป็นปัจจุบันและรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานแผนยุทธศาสตร์เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ พ.ศ. 2560–2564 ตลอดจนเป็นการนำเสนอมุมมองจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการนำข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังไปใช้ประโยชน์
“การพัฒนาสมรรถนะของห้องปฏิบัติการเครือข่ายในการตรวจเชื้อดื้อยาจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แพทย์นำข้อมูลไปใช้วางแผนการรักษาโรค และสนับสนุนการป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยา เพื่อลดการป่วยตายจากการดื้อยา โดยคาดว่าภายในปี 2564 จะลดได้ถึงร้อยละ 50 อย่างไรก็ตามสำหรับประชาชนควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการดื้อยาได้ เช่น ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเองเพราะอาจได้ยาที่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคนั้นได้ และส่งผลให้เชื้อโรคพัฒนาตัวเองไปสู่การดื้อยาได้ ควรรับประทานยาปฏิชีวนะให้หมดตามแพทย์สั่งแม้จะหายป่วยแล้ว และไม่ใช้ยาปฏิชีวนะผสมในอาหารสัตว์ เป็นต้น” นายแพทย์สมฤกษ์ กล่าวทิ้งท้าย