กรมวิชาการเกษตร ลงนามผนึก 4 พันธมิตร ครอปไลฟ์เอเชีย – DSI – ปคบ. เอาจริง!!แจ้งเตือน ผิดจริง จับ อายัด ปรับ ตัดสิทธิ์ …ผู้ค้าปัจจัยการผลิตเกษตรทั่วประเทศ

0
257
image_pdfimage_printPrint

กรมวิชาการเกษตรผนึก 4 พันธมิตรลงนามความร่วมมือหนังสือแจ้งผู้ประกอบการค้าสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในการรณรงค์ต่อต้านใช้ปุ๋ย ยา เมล็ดพันธุ์ถูกกฎหมาย เรียกเชื่อมั่นผู้บริโภค ส่งผลบวกถึงภาพลักษณ์สินค้าเกษตรไทยในสากล
นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือในหนังสือแจ้งผู้ประกอบการค้าสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในการรณรงค์ต่อต้านสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมายครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของ ครอปไลฟ์เอเชีย ที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ปัจจัยทางการเกษตรที่ได้มาตรฐานการผลิตและถูกต้องตามหลักสากล ถือเป็นภาพเชิงสัญลักษณ์ของการบูรณาการร่วมกัน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่จะประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อให้ เฝ้าระวัง ป้องปราม การผลิต จัดจำหน่าย และใช้ปัจจัยทางการเกษตรที่ผิดกฎหมาย ไม่ได้มาตรฐาน ตลอดจนเร่งรณรงค์ถึงผลกระทบของการใช้ปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน ที่อาจส่งผลให้ผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ทำลายความเชื่อมั่นต่อผลิตผลทางการเกษตรของไทย ตลอดจนทำลายระบบนิเวศน์ และคุณภาพชีวิต มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ หากเกษตรกรใช้อย่างไม่ถูกต้องขาดความเข้าใจ กระทั่งทำลายระบบเศรษฐกิจการเกษตรของไทยในที่สุด
โดยภายในงานยังได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมายและวิธีการตรวจสอบด้วยเทคนิค Fourier Transform Infrared (FTIP) เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชนในเรื่องการตรวจสอบวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ผิดกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการปราบปรามผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งจากกรมวิชาการเกษตร กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ (ปคบ.) ตลอดจนภาคเอกชน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัยเป็นประโยชน์ในการ เฝ้าระวัง ป้องปราม และเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ภายใต้กรอบหนังสือความร่วมมือดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลยิ่งขึ้น
ทางด้านนายธีระ รัตนพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เสริมว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ในราคาที่เป็นธรรม ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้รับการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับ ผู้ประกอบการปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ตลอดจนผู้ประกอบการร้านค้าที่เป็นจุดจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่ผิดกฎหมายไม่ได้มาตรฐานมาโดยตลอด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้ กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร แต่งตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษ “สารวัตรเกษตร” มีหน้าที่ ออกตรวจตรา ควบคุมและกำกับเกี่ยวกับการผลิต การรวบรวม การจัดจำหน่าย และการใช้ การรับจ้าง ซึ่งวัตถุอันตราย ปุ๋ยเคมี และเมล็ดพันธุ์ตามกฎหมาย ตลอดจนตรวจตราใบอนุญาตจำหน่ายว่าถูกต้อง หมดอายุหรือไม่ รายชื่อทะเบียนปุ๋ย ตรวจสอบปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยสารวัตรเกษตรเหล่านี้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบการตรวจ และการอายัดวัตถุต้องสงสัย จากนั้นจะส่งข้อมูลเหล่านี้ให้กับตำรวจกองปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค หรือ ปคบ. เพื่อดำเนินตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป
โดยชุดปฏิบัติการสารวัตรเกษตร ของกรมวิชาการเกษตรได้เริ่มปฏิบัติการแล้วในพื้นที่ภาคการผลิตทางการเกษตรเป้าหมายทั่วประเทศผ่านเครือข่ายสารวัตรเกษตรกว่า 400 นาย สแกนสถานที่ผลิตและร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตอย่างเข้มข้นทุกพื้นที่ ได้เข้าตรวจสอบแหล่งผลิตและร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรแล้ว 4,606 แห่ง พร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างและสั่งอายัดเพื่อวิเคราะห์คุณภาพ ขณะเดียวกันสารวัตรเกษตรยังได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปคบ.เข้าจับกุมดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย จำนวน 7 ราย พร้อมยึดของกลาง 25 รายการ ปริมาณ 247 ตัน มูลค่ารวม 14.37 ล้านบาท โดยผู้กระทำผิดส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม และปทุมธานี
นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังได้กำชับหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 รวมทั้งสารวัตรเกษตรและเครือข่ายสารวัตรเกษตรทั่วประเทศ ติดตามตรวจสอบและกวาดล้างขบวนการรถเร่ขายปุ๋ยและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในทุกพื้นที่ รวมทั้งขอความร่วมมือผู้นำชุมชน และสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ช่วยกันตรวจสอบและแจ้งเบาะแสเมื่อพบผู้กระทำผิดกฎหมาย เพื่อรักษาผลประโยชน์และช่วยปกป้องเกษตรกรไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากกลโกงของพ่อค้า และให้ได้ใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน
ผ่านการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการปราบปรามผู้ฝ่าฝืนกฎหมายและควบคุมการโฆษณาขายสินค้าบางชนิดที่ไม่บ่งชี้ว่าเป็นปุ๋ยหรือเป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรวจพบข้อเท็จจริงว่า ปุ๋ยจากรถเร่และปุ๋ยที่พ่อค้าขายตรงให้กับเกษตรกรในราคาถูก และขายผ่านผู้นำหมู่บ้าน เป็นปุ๋ยปลอมหรือปุ๋ยที่ไม่มีคุณภาพ หากเกษตรกรต้องการซื้อปุ๋ยหรือปัจจัยการผลิตอื่น เช่น สารเคมีการเกษตร และเมล็ดพันธุ์พืช ควรซื้อจากร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ หรือร้านคิวช็อป (Q shop) ซึ่งมีกว่า 1,495 ร้านค้า หรือเลือกซื้อจากร้านที่มีใบอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรแล้วเท่านั้น นายธีระ กล่าวในที่สุด
ทั้งนี้ หากพบรถเร่ขายปุ๋ยหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับการผลิตหรือจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร/โทรสาร 0-2579-4652 หรือที่ e-mail : ardcenter@doa.in.th และหน่วยงานภูมิภาคในสังกัดกรมวิชาการเกษตรทุกแห่ง หรือสายด่วนคุ้มครองผู้บริโภค1135
+++++++++++++++++++++++++++++
สอบถามข้อมูลประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม : (นก) วัชรินทร์ : 081-573-0636