กรมป่าไม้ สนับสนุน ป่าชุมชนบ้านพุน้ำร้อน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้สู่ชุมชน

0
479
image_pdfimage_printPrint

IMG_8209

วันที่ 23 ก.ย.59 – ป่าชุมชนบ้านพุน้ำร้อน หมู่ที่ 4 ต.ด่านช้าง ต.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เดิมมีพื้นที่ 4,113 ไร่ ต่อมาได้ขยายพื้นที่เพิ่มอีก 2,941 ไร่ รวมเนื้อที่ 7,054 ไร่ อยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยขมิ้น ป่าพุน้ำร้อนป่าหนองหญ้าไทร ป่าสงวนแห่งชาติป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ และป่าเขาห้วยพลู มีสภาพป่าเป็น 2 ชนิดคือ ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น มีประชากรอาศัยทั้งหมด 1,011 คน 415 ครัวเรือน รายได้หลักของคนในชุมชน คือ การทำเกษตรกรรม เช่น การทำไร่ อ้อย มันสำปะหลัง เลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคและจำหน่าย
นายประลอง ดำรงไทย รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2539 ได้มีการตัดไม้ทำลายป่าโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชุมชนบ้านพุน้ำร้อน เช่น การเผาถ่าน ซึ่งทำกันอย่างกว้างขวาง เป็นอาชีพรองจากการทำไร่ทำให้ผืนป่าถูกทำลายอย่างรวดเร็ว จนภูเขากลายเป็นเขาหัวโล้น และเป็นช่วงของการทำสัมปทานเหมืองหินแกรนิตของบริษัทเอกชน หากไม่มีการดำเนินการยับยั้งและฟื้นฟูป่า จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อความเป็นอยู่และการทำกินของชาวบ้าน เจ้าอาวาสวัดพุน้ำร้อน ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน จึงประชุมปรึกษาหารือระหว่างผู้นำชุมชนและหาวิธีการแก้ไข ซึ่งจะใช้ผู้ที่มีจิตอาสาเป็นหลักในการดูแลร่วมกัน แต่ไม่เป็นระบบ ในปี พ.ศ. 2547 มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาศึกษาเอกสารเก่าและแนะนำให้เข้าโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ตามแนวพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรา พระบรมราชินีนาท การดำเนินการประชุมประชาคมชาวบ้านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอจัดตั้งป่าชุมชนบ้านพุน้ำร้อน เสนอกรมป่าไม้ตามขั้นตอน และได้รับการอนุมัติจากกรมป่าไม้เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2547
รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า การจัดตั้งเป็นป่าชุมชน ต้องผ่านตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน และอยู่ในความดูแลของกรรมการป่าชุมชน ซึ่งมีทั้งหมด 3 ระดับ ได้แก่ 1. กรรมการป่าชุมชน คือ คณะกรรมการระดับพื้นที่ จะเป็นกลุ่มที่ชุมชนทำงานอยู่ร่วมกับเจ้าหน้าที่พิจารณาในการใช้พื้นที่และลงมือปฏิบัติ 2. กรรมการระดับจังหวัด มีผู้ว่าเป็นประธานและมีเลขาคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) เป็นผู้พิจารณาว่าป่าชุมชนที่อยู่ในจังหวัดของตนเอง จะให้มีการต่ออายุป่าชุมชนหรือการสร้างป่าชุมชนอย่างไรบ้าง ถ้าเกิดกรณีป่าเสื่อมโทรม ผู้ว่าก็สามารถเสนอให้ปิดป่าชุมชนนั้น 3. กรรมการป่าชุมชน ด้านนโยบาย มีท่านรัฐมนตรี เป็นประธาน เป็นบุคคลที่ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ ในทุกระดับจะมีตัวแทนของป่าชุมชนร่วมอยู่ด้วย ส่วนพื้นที่จะแบ่งป่าออกเป็น 2 โซนของพื้นที่ป่า คือป่าโซนอนุรักษ์ ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ และป่าโซนใช้สอย คือพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้ เช่น การใช้ประโยชน์จากไม้ การตัดไม้แล้วปลูกต้นไม้ทดแทน เก็บของป่า เป็นต้น
รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า ทางกรมป่าไม้ได้เข้ามาสนับสนุนในการจัดตั้งป่าชุมชน การบริหารจัดการป่าชุมชนบ้านพุน้ำร้อน ให้มีการดำเนินงานร่วมกันในรูปแบบของการมีส่วนร่วมจากประชาชน นักเรียนนักศึกษา ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรต่างๆในพื้นที่ ร่วมกันตัดสินใจวางแผนบริหารจัดการดูแลป่า อนุรักษ์ปกป้องพื้นที่ป่า การลาดตระเวนป่าอย่างต่อเนื่อง ทำแนวกันไฟ จัดหากล้าไม้เพื่อปลูกต้นไม้ฟื้นฟูป่าในวันสำคัญต่างๆ ร่วมกับนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ สร้างฝายชะลอน้ำ และร่วมกันพัฒนาพื้นที่ป่าบ้านพุน้ำร้อนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงนิเวศน์ แหล่งศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ เช่น แหล่งหินธรรมชาติ น้ำตกเขาวงศ์ อ่างเก็บน้ำเขาวงศ์ สนับสนุนประชาชน และเยาวชนในพื้นที่ให้เป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น และมัคคุเทศก์น้อย เพื่อนำนักท่องเที่ยวชมพื้นที่ป่าบ้านพุน้ำร้อน โดย วางแผนปรึกษาหารือ และดำเนินการสำรวจพื้นที่ ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สุพรรณบุรี สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ 10 (ราชบุรี) กรมชลประธาน กรมการท่องเที่ยวและองค์การบริหารส่วนตำบลด่านช้าง เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ผืนป่า สามารถเพิ่มรายได้จากการนำเที่ยวป่าชุมชน การขายพืชสมุนไพร ตลอดจนจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากป่าชุมชน มีรายได้เฉลี่ยโดยประมาณ 4,690,000 บาทต่อปี
“นับว่าการบริหารป่าชุมชนโดยคนในชุมชน เป็นกลไกที่สำคัญที่สุดรูปแบบหนึ่ง ในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่มีความเข้มแข็ง จากป่าที่เคยเสื่อมโทรม กลับฟื้นขึ้นมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้งในช่วงไม่กี่ 10 ปี ที่ผ่านมา จึงอย่างให้ชุมชนทั้งหลายที่มีป่าอยู่ใกล้บ้านตนเอง เห็นเป็นตัวอย่าง แล้วนำป่านั้นกลับมาดูแล โดยการส่งเสริมการจัดตั้งป่าชุมชนจากภาครัฐซึ่งกรมป่าไม้สนับสนุนเต็มที่ สิ่งที่ประชาชนจะได้กลับมาก็คือ ป่าที่สมบูรณ์ และการเก็บหาของป่า ตามแนวทางของกฎหมายป่าชุมชนที่จะออกมา วันนี้เรามีเป้าหมาย 21,850 แห่งทั่วประเทศ กว่า 10 ล้านไร่ ถ้าเราทำให้ป่าทุกแห่งมีความสมบูรณ์แบบป่าชุมชนบ้านพุน้ำร้อนได้ อย่างน้อยก็จะเป็น 10 ล้านไร่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน จากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน” รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว
นายชุม นันทา ประธานคณะกรรมการป่าชุมชน กล่าวว่า ป่าชุมชนบ้านพุน้ำร้อนคณะกรรมการป่าชุมชนได้จัดทำร่างกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ป่าชุมชนขึ้นแล้วนำผ่านเวทีประชาคม ถามความเห็นของชาวบ้าน เพื่อให้ทุกคนยอมรับ แล้วนำไปปฏิบัติโดยเคร่งครัด พื้นที่ป่าจึงได้รับการคุ้มครองโดยชุมชนทำให้ทรัพยากรป่าไม้ ดิน น้ำ มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชน ทำให้ป่าชุมชนได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการประกวดป่าชุมชนระดับภาค ในโครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2559” และได้เป็นตัวแทนในระดับภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเราได้ผ่านเข้ารอบการประกวดในระดับประเทศต่อไป