กรมป่าไม้ชวนคนไทยลงทะเบียนปลูกไม้เศรษฐกิจผ่านระบบ “e-Tree”

0
853
image_pdfimage_printPrint

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าประมาณร้อยละ 32 ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มพื้นที่ป่า
ให้ได้ร้อยละ 40 และเป็นป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15 แต่เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคทางการค้าที่สะสมมาเป็นเวลานาน เช่น การที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการค้า แต่แนวทางปฏิบัติยังขัดแย้งกัน กรณีให้ปลูกต้นไม้ได้อย่างเสรี แต่ตัดไม่ได้ หรือตัดได้ แต่มีขั้นตอนยุ่งยากและมีบทลงโทษ ทำให้คนไม่อยากปลูกต้นไม้เพื่อการค้า ส่งผลให้นโยบายส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจต้องล้มเหลวไปด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวางแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายปลูกแล้วต้องขายได้เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอื่นๆ

นายบรรจง วงศ์ศรีสุนทร ผู้อำนวยการสำนักรับรองการป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมป่าไม้ได้จัดทำแอพพลิเคชั่น “อี-ทรี” (e-Tree) ซึ่งเป็นบริการรูปแบบใหม่สำหรับลงทะเบียนแหล่งปลูกไม้ที่เปิดช่องทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนต้นไม้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถนำไปใช้อ้างอิงความถูกต้องตามกฎหมายของแหล่งที่มาของไม้ได้ รวมทั้งการขอใช้ประโยชน์จากไม้ เช่น การขอตัด การเคลื่อนย้าย การซื้อขาย และการค้ำประกัน เป็นต้น

“การพัฒนาแอพพลิเคชั่น e-Tree มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้เศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการปลูกไม้เพื่อการค้าและการส่งออกขยายตัวอย่างรวดเร็ว ความต้องการของตลาดเพิ่มสูงขึ้น แต่กำลังการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ประกอบกับขั้นตอนการส่งออกต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการหลายวันกว่าจะแล้วเสร็จ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลา ดังนั้น e-Tree จึงเป็นบริการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงบริการของภาครัฐได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ภาครัฐยังสามารถสำรวจข้อมูลไม้ที่ประชาชนปลูกเพื่อใช้ในการวางแผนและส่งเสริมธุรกิจการค้าไม้” ผู้อำนวยการสำนักรับรองการป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าว

สำหรับระบบ e-Tree สามารถลงทะเบียนได้ง่ายๆ ผ่าน 2 ช่องทาง คือ http://nsw.forest.go.th และแอพพลิเคชั่น e-Tree ที่สามารถดาวน์โหลดผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนได้ทั้งระบบแอนดรอยด์และไอโอเอส โดยเริ่มจากการลงทะเบียนปลูกไม้ ยืนยันสถานะตัวบุคคล พร้อมปักหมุดขอบเขตแปลงปลูก และตำแหน่งของต้นไม้ จากนั้นระบบจะให้ผู้ใช้กรอกรายละเอียดข้อมูลต้นไม้และสามารถปรับปรุงข้อมูลต้นไม้ได้เป็นประจำทุกปี เช่น ความสูง เส้นรอบวงและการปลูกต้นไม้เพิ่มโดยระบบจะทำการคำนวณและแสดงผลเป็นปริมาตรของเนื้อไม้ให้ผู้ใช้ทราบเมื่อต้องการขอใช้ประโยชน์เช่นการตัดการขายและการเคลื่อนย้าย สามารถยื่นความประสงค์ผ่านระบบได้ทันที จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจเช็คข้อมูลหลักฐานต่างๆและรอผลการอนุมัติ ซึ่งจะช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย

ด้านนายคมวิทย์ บุญธำรงกิจ อุปนายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าวว่า จากสถิติการนำเข้า-ส่งออกปี 2560 พบว่าประเทศที่ส่งออกไม้รายใหญ่ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน แคนาดา สหรัฐ เยอรมัน และรัสเซีย ส่วนประเทศที่นำเข้าไม้รายใหญ่ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมัน และอังกฤษ โดยประเภทของไม้ที่ตลาดยังมีความต้องการอีกมาก เช่น ไผ่ ยูคาลิปตัส กระถินเทพา สะเดา กันเกรา ประดู่ เต็ง ชิงชัน มะเกลือ สาธร พะยูง ตะเคียนทอง และแดง เป็นต้น ที่สำคัญคือราคาไม้เศรษฐกิจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี นอกจากนี้ การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ต้นไม้ 58 ชนิดตามบัญชีต้นไม้แนบท้าย พ.ร.บ.สวนป่า สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันทางธุรกิจ เช่น สัก พะยูง ชิงชัน กระซิก กระพี้เขาควาย สาธร แดง ประดู่ มะค่า เคี่ยม พะยอม ตะเคียน สะเดา สัตบรรณ ตีนเป็ดทะเล ปีบ ตะแบกนา แคนา กัลปพฤกษ์ มะขามป้อม จามจุรี กฤษณา เทพทาโร ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน และมะขาม จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึง
แหล่งเงินกู้ได้สะดวกยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การปลูกไม้เศรษฐกิจยังถือเป็นการออมเงินและเป็นมรดกให้กับลูกหลาน โดยเฉพาะไม้ที่มีราคาสูงต้องใช้ระยะเวลาในการปลูกหลายปี ยกตัวอย่างเช่น ไม้สัก ใช้ระยะเวลาในการปลูกประมาณ 30 ปี สร้างรายได้ 8,800 บาทต่อไร่ ยูคาลิปตัส 19,747 บาทต่อไร่ ใช้ระยะเวลาในการปลูก 4 ปี สร้างรายได้ 4,936 บาทต่อไร่ต่อปี ตะเคียนทราย 30 ไร่ ใช้ระเวลาเวลาในการปลูก 25 ปี สร้างรายได้ 33,000 บาทต่อปี และพะยูง ต้องใช้ระยะเวลาในการปลูกขั้นต่ำ 25 ปี สร้างรายได้ไร่ละ 2 ล้าน ตกปีละประมาณ 80,000 บาทต่อปี

จ.ส.อ.พยนต์ ง่วนทอง หรือ ครูพยนต์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนวัดใหม่สระพลอย อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี และเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ปลูกป่าเศรษฐกิจ กล่าวว่า เริ่มปลูกไม้เศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2559 บนที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเองซึ่งมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 6 ไร่ โดยใช้เวลาว่างจากการสอนหนังสือมาดูแลต้นไม้ และชอบนำไม้มาประดิษฐ์เป็นวัสดุอุปกรณ์ภายในบ้าน อย่างเช่น โต๊ะ เก้าอี้ สำหรับต้นไม้ที่ปลูกมีหลากหลายประเภท เช่น สัก ประดู่ แดง มะค่าโมง แคนา และมะฮอกกานี ปัจจุบันไม้ที่ปลูกมีประมาณ 1,600 ต้น

“ผมได้ลงทะเบียนปลูกต้นไม้ผ่านแอพพลิเคชั่น e-Tree เรียบร้อยแล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้มาให้คำแนะนำขั้นตอนและวิธีการลงทะเบียน ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มช่องทางในการอำนวยความสะดวกเรื่องการตัดไม้ ขนย้ายไม้ ซึ่งต้นไม้ที่ผมปลูกไว้มีหลายประเภท ซึ่งโดยส่วนตัวผมมองว่าระบบ e-Tree จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ปลูกต้นไม้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้สอนวิธีการลงทะเบียนต้นไม้ผ่านระบบ e-Tree ให้กับเด็กนักเรียนเพื่อทำหน้าที่เป็น e-Tree Trainer ช่วยลงทะเบียนต้นไม้ให้กับพ่อแม่และผู้ที่สนใจจะลงทะเบียนต้นไม้ผ่านระบบ e-Tree ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายผลในวงกว้างมากขึ้น” ครูพยนต์ กล่าว

การส่งเสริมให้ปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อเป็นอาชีพเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจน และถือเป็นการออมเงิน เพราะการปลูกไม้เศรษฐกิจต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะตัดขายได้ มูลค่าของไม้ในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้น…การส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อการค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีแหล่งรับรองที่มาของไม้จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมไม้ไทยและในตลาดโลก