กรมที่ดินชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีข้อกล่าวหาภาครัฐเพิกถอนสิทธิที่อยู่ประชาชนเพื่อเอื้อนายทุนทำเหมืองแร่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา

0
702
image_pdfimage_printPrint

นายประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข้อความเผยแพร่ในสื่อ social media ว่า ชาวบ้านในอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ถูกภาครัฐอ้างว่าที่พักอาศัยของตนเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ แม้ว่าจะมีเอกสารสิทธิเดิมแต่ถูกเพิกถอนในเวลาต่อมา ทำให้กลายเป็นผู้บุกรุกที่ดินตนเองและถูกดำเนินคดีมาแล้ว แม้ว่าจะมีการยื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรมไปทุกหน่วยงานรัฐตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 แต่ถูกเพิกเฉย และยังมีการกล่าวอ้างว่าข้อเท็จจริงที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ คือ ใต้ผืนดินที่ชาวบ้านกลุ่มนี้อยู่อาศัย มีแร่โปแตซมหาศาลสะสมอยู่ นำมาซึ่งความต้องการของกลุ่มนายทุนที่ต้องการใช้พื้นที่แห่งนี้สำรวจและประกอบกิจการเหมืองแร่ โดยมีคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจและทำเหมืองแร่ที่มีโปแตซทับซ้อนกันอยู่ 1.2 หมื่นไร่ นั้น
กรมที่ดินขอเรียนชี้แจงว่า ที่สาธารณประโยชน์ตามที่ปรากฏข้อความในสื่อ social media ดังกล่าว เป็นที่สาธารณประโยชน์แปลง “วะช่องโค” ซึ่งได้สงวนหวงห้ามไว้มาเป็นเวลากว่า 100 ปี เพื่อใช้เป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์และเก็บผักหักฟืนของประชาชนหลายหมู่บ้าน และได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ แปลงที่ 10 เนื้อที่ 1,368 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2517 และ ได้ดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ 23189 เนื้อที่ประมาณ 1,329 ไร่เศษ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2528 ซึ่งกรมที่ดินได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของกลุ่มชาวบ้านที่ร้องเรียนขอความเป็นธรรมมาโดยลำดับ ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2553 กลุ่มชาวบ้านได้นำหลักฐานใบรับแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดิน ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ยื่นขอออกโฉนดที่ดิน แต่กำนันและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกุดพิมานคัดค้านการรังวัด โดยแจ้งว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์แปลง “วะช่องโค” และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาด่านขุดทด ได้ยกเลิกคำขอพร้อมแจ้งสิทธิการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว เป็นเหตุให้มีการฟ้องคดีต่อศาล ดังนี้
1.1.1 วันที่ 27 กันยายน 2555 กลุ่มราษฎร ได้ยื่นฟ้องคดีปกครอง ต่อศาลปกครองนครราชสีมา รวม 7 คดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาด่านขุนทด ซึ่งสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้อง และขอให้ศาลสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีพร้อมทั้งขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ 23189 ในส่วนที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้อง ซึ่งศาลมีคำสั่งรวมคดีเข้าด้วยกัน และพิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีไม่อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุด
1.1.2 วันที่ 19 มีนาคม 2555 กลุ่มราษฎร รวม 23 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีแพ่งกรมที่ดินเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสีคิ้ว ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดังกล่าว ศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
1.1.3 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 องค์การบริหารส่วนตำบลกุดพิมาน แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาต่อกลุ่มราษฎรที่บุกรุกที่สาธารณประโยชน์แปลง “วะช่องโค” พนักงานอัยการจังหวัดสีคิ้ว เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกลุ่มราษฎรรวม 17 ราย เรื่อง ทำให้เสียทรัพย์ ความผิดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีบุกรุกยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่สาธารณะ ศาลจังหวัดสีคิ้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตารมประมวลกฎหมายที่ดิน พิพากษาจำคุกจำเลยและสั่งให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดิน มีจำเลยซึ่งเป็นราษฎร 1 ราย ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน
2. กรณีที่กล่าวอ้างว่า มีกลุ่มนายทุนยื่นคำขอทำเหมืองแร่โปแตซทับซ้อนที่ดินดังกล่าว นั้น จังหวัดนครราชสีมาตรวจสอบเบื้องต้นปรากฏว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประทานบัตรการทำเหมืองแร่โปแตซ ให้แก่บริษัท ไทยคาลี จำกัด เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 ในพื้นที่ตำบลหนองไทร ตำบลหนองบัวตะเดียด และตำบลโนนเมืองพัฒนา อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา รวมเนื้อที่ 9,000 ไร โดยเขตประทานบัตรอยู่ห่างจากพื้นที่สาธารณประโยชน์แปลง “วะช่องโค” ตำบลกุดพิมาน ประมาณ 7 กิโลเมตร จึงเป็นพื้นที่ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่ร้องเรียน
อธิบดีกรมที่ดินกล่าวเพิ่มเติมว่า กรมที่ดินได้ส่งผู้ตรวจราชการกรม เขตตรวจราชการที่ 7 ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ร้องแล้ว