กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จับมือหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดชุมพร (IUU Fishing)

0
686
image_pdfimage_printPrint

ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม สาเหตุหลักที่ทำให้สหภาพยุโรป (EU) ประกาศให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ทำให้ วันนี้ ประเทศไทยต้องหันกลับมาทบทวนทั้งด้านกฎหมายและการปฏิบัติงานการควบคุมการทำประมงอย่างจริงจัง จนนำไปสู่การปฏิวัติการทำประมงของประเทศไทยครั้งใหญ่
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้องเร่งทำงานอย่างหนัก เพื่อควบคุมดูแลการจับสัตว์น้ำทะเลของชาวประมง ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรทางทะเลที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่ให้ถูกทำลายเพิ่มขึ้น และที่สำคัญกว่านั้น คือการเร่งปลดล็อกใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (EU)
วันที่ 20 กันยายน ๒๕๖๐ นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้เป็นผู้บัญชาการการปฏิบัติการในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ได้ร่วมกับนายอภิชัย เอกวนากุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ ๔ และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดชุมพร อันประกอบด้วย กรมประมง กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมศุลกากร และนายอำเภอเมืองชุมพร ลงพื้นที่ตรวจเรือประมงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) ตลอดจนเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสื่อมวลชน ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ทั้งนี้ เป็นการปฏิบัติงานเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล และเป็นการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing)
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ได้ปฏิบัติงานคุ้มครองและป้องกันระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่รับผิดชอบ ๒3 จังหวัด โดยการตรวจตรา ลาดตระเวน ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการทำการประมง ซึ่งแบ่งชุดเรือตรวจการณ์ตามแผนบูรณาการออกลาดตระเวนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ดำเนินการตรวจเรือประมงในท้องที่ที่รับผิดชอบ โดยมีผลการดำเนินการตรวจเรือประมง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ดังนี้

ลำดับที่ หน่วยงานที่รับผิดชอบ เรือประมงที่ตรวจสอบ แรงงานประมง ผลคดี ผู้ต้องหา หมายเหตุ
(ลำ) (คน) (คดี) (คน)

1 สบทช. 1 154 1,804 13 12
2 สบทช. 2 104 815 22 20
3 สบทช. 3 168 2,028 13 16
4 สบทช. 4 86 1,152 6 0
5 สบทช. 5 380 3,789 17 9
6 สบทช. 6 70 2,312 43 65
7 สบทช. 7 224 4,058 13 6
8 สทช. 29 112 2 2
รวม 1,215 16,070 129 130

โดย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ปัจจุบัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นหน่วยงานภายใต้ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหรือ ศรชล. ซึ่ง ศรชล. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 10/2558 ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 ให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายหรือ ศปมผ. (Command Center for Combating Illegal Fishing) การจัดตั้ง ศปมผ. ไม่ใช่แค่เพียงการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing จากมาตรการแจ้งเตือนสถานะใบเหลืองโดยสหภาพยุโรป (EU) เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญคือการรักษาทรัพยากรทางทะเลให้สมบูรณ์และยั่งยืนสืบต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งได้กำชับให้หน่วยงานในระดับพื้นที่ คือสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 – 7 เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการและนโยบายของรัฐบาลอย่างจริงจัง ด้วยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเต็มรูปแบบยิ่งขึ้น เนื่องจากหลายหน่วยงานที่เข้ามาบูรณาการทำงานร่วมกันนั้น ต่างก็มีกฎหมายเฉพาะที่แตกต่างกัน แต่หากบูรณาการร่วมกันก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจเรือประมงไร้สัญชาติ การตรวจความถูกต้องของเครื่องมือประมง การตรวจการเข้า – ออก ของเรือประมง (Port In/ Port Out) การตรวจอุปกรณ์เครื่องมือในระบบติดตามเรือ (VMS) กับเรือที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป การตรวจใบอนุญาตแรงงานชาวต่างด้าว รวมถึงการสอดส่องเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญสำหรับประเทศไทย ซึ่งภารกิจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการป้องกันและปราบปรามการทำการประมงผิดกฎหมายในภาพรวมของปีนี้ หวังว่าจะช่วยส่งผลให้ไทยหลุดพ้นจากการให้ใบเหลืองของ EU ได้ในที่สุด