ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม สาเหตุหลักที่ทำให้สหภาพยุโรป (EU) ประกาศให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายทำให้ วันนี้ประเทศไทยต้องหันกลับมาทบทวนทั้งด้านกฎหมายและการปฏิบัติงานการควบคุมการทำประมงอย่างจริงจัง จนนำไปสู่การปฏิวัติการทำประมงของประเทศไทยครั้งใหญ่
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้องเร่งทำงานอย่างหนัก เพื่อควบคุมดูแลการจับสัตว์น้ำทะเลของชาวประมง ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันทั้งนี้เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรทางทะเลที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่ให้ถูกทำลายเพิ่มขึ้น และที่สำคัญกว่านั้นคือการเร่งปลดล็อคใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (EU)
ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดี ทช. กล่าวว่า ปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานภายใต้ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. ซึ่ง ศรชล. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและ ไร้การควบคุม ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 10/2558 ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 ให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายหรือ ศปมผ. (Command Center for Combating Illegal Fishing) การจัดตั้ง ศปมผ. ไม่ใช่แค่เพียงการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing จากมาตรการแจ้งเตือนสถานะใบเหลืองโดยสหภาพยุโรป (EU) เพียงอย่างเดียวแต่สิ่งสำคัญคือการรักษาทรัพยากรทางทะเลให้สมบูรณ์และยั่งยืนสืบต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งได้กำชับให้หน่วยงานในระดับพื้นที่ คือสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10 เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการและนโยบายของรัฐบาลอย่างจริงจัง ด้วยการ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเต็มรูปแบบยิ่งขึ้น เนื่องจากหลายหน่วยงานที่เข้ามาบูรณาการทำงานร่วมกันนั้น ต่างก็มีกฎหมายเฉพาะที่แตกต่างกัน แต่หาก บูรณาการร่วมกันก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจเรือประมงไร้สัญชาติ การตรวจความถูกต้องของเครื่องมือประมง การตรวจการเข้า – ออก ของเรือประมง (Port In / Port Out) การตรวจอุปกรณ์เครื่องมือในระบบติดตามเรือ (VMS) กับเรือที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป การตรวจใบอนุญาตแรงงานชาวต่างด้าว รวมถึง การสอดส่องเรื่องการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญสำหรับประเทศไทย ซึ่งภารกิจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการป้องกันและปราบปรามการทำการประมงผิดกฎหมายในภาพรวมของปีนี้ หวังว่าจะช่วยส่งผลให้ไทยหลุดพ้นจากการให้ใบเหลืองของ EU ได้ในที่สุด
ด้านนายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่าตนได้รับมอบหมายให้เป็น ผู้กำกับภารกิจในด้านงานป้องกันและปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายนี้ ซึ่งตนได้มอบแนวทางการปฏิบัติงานให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ว่าให้เป็นไปตามนโยบายของ พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการที่กรม ทช.จะต้องเป็นหน่วยงานสนับสนุนในการตรวจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการให้ใบเหลืองของ EU ให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 นี้ กรม ทช.มีผลการปฏิบัติงานในด้านดังกล่าวเป็นที่น่าพอใจ สามารถดำเนินการตรวจเรือประมง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2561 ได้ถึง 4,101 ลำ จำนวนแรงงานประมง จำนวน 42,985 คน สามารถดำเนินคดีการทำการประมงผิดกฎหมายได้จำนวน 92 คดี และจับกุมผู้ต้องหาได้ 45 คน โดยคดีส่วนใหญ่เป็นการใช้เครื่องมือประมงประเภทลอบพับ (ไอ้โง่) ตลอดจนมีเครื่องมือประมงที่ใช้กระทำผิดในชนิดอื่นๆ อีกเช่น อวนรุน อวนลาก อวนล้อม คราดหอย โพงพาง อวนติดตา เป็นต้น และนายโสภณ ยังระบุ ต่อไปว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นหน่วยงานราชการหน่วยหนึ่งซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นสมบัติอันมีค่ายิ่งของชาติ สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละหลายแสนล้านบาท ทั้งจากการท่องเที่ยวและการประมงทะเล ดังนั้นปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ดังกล่าว กรม ทช. และหน่วยงานราชการอื่นๆ เช่น กรมประมง หรือกองทัพเรือ ซึ่งทุ่มเทการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหานี้มาเป็นระยะเวลานาน จะไม่สามารถประสบความสำเร็จให้ไทยหลุดพ้นจากใบเหลืองได้ หากพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวประมงไม่ให้ความร่วมมือ ร่วมใจ ช่วยกันแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้ แนวโน้มก็เป็นไปในทางที่ดีและหวังว่าจะปะสบความสำเร็จทำให้สหภาพยุโรปเห็นถึงการแก้ไขปัญหา IUU ของไทยที่เป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง พิจารณาปลดใบเหลืองให้ไทยในไม่ช้านี้
****************************