กรมชลประทาน ย้ำปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่มีเพียงพอใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้ง

0
487
image_pdfimage_printPrint

สถานการณ์น้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2560

กรมชลประทาน ย้ำปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่มีเพียงพอใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้ง พร้อมวอนเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยาพักการทำนารอบที่ 3 (นาปรังครั้งที่ 2) อดใจรอไปทำนาปี พร้อมกับช่วงต้นฤดูฝนไม่เสี่ยงผลผลิตข้าวเสียหาย

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศว่า ปัจจุบัน (23 มี.ค. 60) มีปริมาณน้ำในอ่างรวมทั้งสิ้น 44,675 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯรวมทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 7,676 ล้านลูกบาศก์เมตร (ปี 2559 มีปริมาณน้ำ 36,999 ล้านลูกบาศก์เมตร) มีปริมาณน้ำใช้การได้ 20,855 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 41
สำหรับลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (23 มี.ค. 60) มีปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก รวมทั้งสิ้น 12,448 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ รวมทั้งหมด ปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2559 รวม 3,208 ล้านลูกบาศก์เมตร(ปี 2559 มีปริมาณน้ำ 9,240 ล้านลูกบาศก์เมตร) ปริมาณน้ำใช้การได้ 5,752 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 32

จะเห็นได้ว่าสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งของปีนี้ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่า ปี 2559 ที่ผ่านมา ทำให้สามารถจัดสรรน้ำให้ทุกภาคส่วนได้อย่างเพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนปี 2560 ยกเว้นภาคการเกษตรบางพื้นที่ที่ต้องปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีอยู่ไม่สามารถสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกได้ทั้งหมด

กรมชลประทานได้วางแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60 เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง ณ วันที่ 1 พ.ย.2559 มีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งสิ้น 28,837 ล้านลูกบาศก์เมตร วางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 17,661 ล้านลูกบาศก์เมตร สำรองน้ำไว้ใช้ในต้นฤดูฝน 13,205 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ ดังนี้
1.เพื่อการอุปโภคบริโภค 2,339 ล้านลูกบาศก์เมตร
2.เพื่อการรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 5,440 ล้านลูกบาศก์เมตร
3. สำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน 13,205 ล้านลูกบาศก์เมตร
4.เพื่อการเกษตร 9,579 ล้านลูกบาศก์เมตร
5.เพื่อการอุตสาหกรรม 303 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 1 พ.ย.59 วางแผนใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) รวมทั้งสิ้น 5,950 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยสำรองน้ำไว้ใช้ในต้นฤดูฝน 3,754 ล้านลูกบาศก์เมตร และจัดสรรน้ำตามกิจกรรมการใช้น้ำ ดังนี้
1.เพื่อการอุปโภคบริโภค 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร
2.เพื่อการรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,435 ล้านลูกบาศก์เมตร
3. สำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน 3,754 ล้านลูกบาศก์เมตร
4.เพื่อการเกษตร 3,400 ล้านลูกบาศก์เมตร
5.เพื่อการอุตสาหกรรม 15 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทานทั้งประเทศ ณ วันที่ 22 มีนาคม 2560 ที่กรมชลประทานได้วางแผนเพาะปลูกไว้ 4 ล้านไร่ แต่กลับพบว่ามีเกษตรกรเพาะปลูกไปแล้วถึง 7.64 ล้านไร่ มากกว่าแผน 3.64 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.62 ล้านไร่ เหลือพื้นที่รอเก็บเกี่ยว 6.02 ล้านไร่ ส่วนนอกเขตชลประทานทั้งประเทศวางแผนเพาะปลูกไว้ 2.93 ล้านไร่ ปลูกแล้ว 3.52 ล้านไร่ มากกว่าแผน 0.59 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 0.72 ล้านไร่ เหลือพื้นที่รอเก็บเกี่ยว 2.80 ล้านไร่ จะเห็นได้ว่าพื้นที่ปลูกเกินส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตชลประทาน ซึ่งใช้น้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ 34 เขื่อนและแหล่งน้ำอื่นๆแต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานพื้นที่ที่เสียหายจากภัยแล้งหรือขาดแคลนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 34 แห่ง นอกจากจะใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังจะถูกนำไปจัดสรรวางแผนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร การอุตสาหกรรมและอื่นๆด้วย โดยพิจารณากิจกรรมที่สำคัญเป็นอันดับแรก คือ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาซึ่งประชาชนหลายสิบล้านคนต้องการใช้ในการดำรงชีพ
ส่วนที่สอง น้ำที่ใช้เพื่อการรักษาระบบนิเวศ คือ การรักษาน้ำในแม่น้ำลำคลองให้สูงพอ เพื่อรักษาแรงดันน้ำไม่ให้ดินทรุด หากระดับน้ำลดลง คันคลอง คันถนน พื้นที่รอบๆจะทรุดตัวลงมาก ตามที่ปรากฏในข่าวต่างๆและรักษาคุณภาพน้ำ เช่น น้ำทีใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ต้องมีระดับค่าความเค็มน้อยมากหรือควบคุมความเค็มของน้ำ ที่ใช้สำหรับการเพาะปลูกพืชและสัตว์น้ำ ไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน จะเห็นได้ว่าหลายปีที่ผ่านมานี้ สภาพอากาศมีความแปรปรวนมาก ทำให้ลมทะเลพัดเอาคลื่นยกตัวสูงมาก ส่งผลให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นจนทำให้ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้บางครั้งกรมชลประทานต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนต่างๆลงมาผลักดันน้ำเค็ม เพื่อให้น้ำดิบอยู่ในเกณฑ์ที่จะนำไปผลิตน้ำประปาได้ ส่วนที่สาม น้ำเพื่อการเกษตร ได้แก่ พืช ทั้งที่เป็นไม้ผลและไม้ยืนต้น รวมถึงสัตว์น้ำด้วย

ทั้งนี้เมื่อสิ้นฤดูฝนก่อนเริ่มต้นฤดูแล้งในวันที่ 1 พ.ย.ของทุกปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการใช้น้ำจากเขื่อนหรือแหล่งน้ำต่างๆตลอดฤดูแล้งไปจนถึงเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจะต้องจัดสรรน้ำที่มีอยู่ สำหรับอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศและดูแลผลไม้ยืนต้นก่อนในเบื้องต้นเพราะมีผลกระทบกับประชาชนจำนวนหลายสิบล้านคน และหากเสียหายจะกระทบกับเศรษฐกิจในวงกว้างด้วย จากการติดตามสภาพอากาศที่แปรปรวน บางครั้งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลหรือเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงจึงจำเป็นต้องสำรองน้ำ ส่วนหนึ่งไว้ให้เพียงพอใช้ไปจนถึงต้นเดือน ส.ค.60 ปริมาณน้ำที่เหลือจากนั้น จึงจะนำมาวางแผนการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง สำหรับในปีนี้ในเขตชลประทานวางแผนไว้ 4 ล้านไร่ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนยังมีไม่มาก เพราะแล้งติดต่อกันมา 2 ปีแล้ว แต่ปริมาณน้ำที่มีอยู่ก็สามารถส่งน้ำเพื่อการทำนาปรังได้บางส่วน ซึ่งโครงการชลประทานในพื้นที่ได้แจ้งไปยังจังหวัดต่างๆให้ทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำ พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรผ่านการประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ของแต่ละโครงการชลประทานว่า พื้นที่ใดสามารถเพาะปลูกได้และพื้นที่ใดจำเป็นต้องขอความร่วมมือให้งดปลูกซึ่งต้องสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรว่า ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด หากมีการแย่งกันใช้น้ำ ปริมาณน้ำจะไม่เพียงพอและนาข้าวอาจเสียหายได้

อย่างไรก็ตาม มักจะมีข่าวอยู่เสมอว่า บางพื้นที่ปลูกข้าวไปแล้ว ไม่มีน้ำจากชลประทานส่งไปให้ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงพื้นที่เหล่านี้ จะอยู่นอกเหนือจากแผนการเพาะปลูกและแผนการส่งน้ำ ด้วยใจจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ภาครัฐมีความพยายามที่จะหาหนทางในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอยู่เสมอ แต่ก็อยากให้เกษตรกรเข้าใจด้วยว่าปริมาณน้ำส่วนนี้เปรียบเสมือนกับสมบัติส่วนรวมที่เป็นของทุกคน ต้องสงวนไว้ใช้ในสิ่งที่จำเป็น หากใช้เพื่อการเกษตรมากเกินไป ส่วนอื่นๆก็จะขาดแคลน ส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ได้เช่นกัน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุคนี้ มีความต้องการปฏิรูปภาคการเกษตร ให้ทำการเกษตรที่เหมาะสมและที่สำคัญเกษตรกรสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนในทุกสถานการณ์ ทั้งนี้เกษตรกรในยุคปัจจุบันไม่จำเป็นต้องปลูกข้าวอย่างเดียว ยังมีเกษตรทางเลือกอื่นๆที่สามารถทำให้เกษตรทางเลือกอื่นๆที่ทำให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้มากกว่าการทำนา อาทิ การปลูกถั่วลิสง ที่ทำกำไรได้ถึง 7,000 บาท /ไร่ ในขณะที่ข้าวได้กำไรเพียง 1,000 บาท/ไร่ อีกทั้งถั่วลิสงยังใช้น้ำน้อยกว่า ใช้เพียงความชื้นที่มีอยู่ในดินหลังจากปลูกข้าวเท่านั้น ทั้งยังบำรุงดินทำให้สามารถปลูกข้าวโดยใช้ปุ๋ยให้น้อยลง แต่กลับได้ผลผลิตที่สูงขึ้น การปลูกข้าวที่ได้กำไร 1,000 บาท/ไร่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้สำรวจเก็บสถิติจากหลายพื้นที่ พบว่าข้าวราคายังไม่ดีขึ้น เพียงตันละ 7,000 – 8,000 บาทเท่านั้น ในขณะที่เกษตรกรต้องเจอกับต้นทุนทั้งค่าเช่าที่ ค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา รถเกี่ยว ค่าจ้างแรงงานและอื่นๆในอัตราที่ค่อนข้างสูง แต่กลับได้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ เนื่องจากการปลูกข้าวนาปรังส่วนใหญ่จะต้องสูบน้ำเข้าไปในนา ซึ่งมีต้นทุนค่าน้ำมันและต้องใช้ปุ๋ยเพิ่มขึ้น เพราะดินไม่ได้พัก ซอกตอซังไม่ทันย่อยสลายเป็นปุ๋ย นอกจากนี้ การไม่พักการทำนา ทำให้วงจรชีวิตแมลงศัตรูข้าวมีข้าวกินตลอดเวลา ปัญหาศัตรูข้าวจึงยังวนเวียนอยู่ ต้องเสียค่ายาสารเคมีมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ผลผลิตต่ำ เพราะธรรมชาติของข้าวต้องผสมเกสรในช่วงอุณหภูมิไม่สูงมาก เมื่อเกิดรวงข้าวไม่มาก ผลผลิตจึงต่ำ คุณภาพไม่ดี ขายแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ ซ้ำยังถูกกดราคาอีกด้วย

จากสถานการณ์ข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมด พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยในพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างมาก จึงขอให้เกษตรกรลงทุนอย่างระมัดระวัง เนื่องจากทราบดีว่าทุกคนอยากมีรายได้ โดยไม่ขาดทุนและขอให้ทำอย่างประณีต คือ ต้องมีการวางแผนและลดต้นทุนเพื่อให้มีผลผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีวิธีในการทำการเกษตรที่ประณีตที่ลดความเสี่ยงและเพิ่มรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกร เช่น การทำระบบเกษตรแปลงใหญ่และการทำนาแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว เป็นต้น จึงขอวิงวอนให้พี่น้องเกษตรกร อย่ารีบปลูกข้าวรอบที่ 3 (นาปรัง ครั้งที่ 2)เลย เพราะจะไม่มีน้ำชลประทานส่งไปให้ ปล่อยให้ท้องนาได้พักบ้าง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มปุ๋ยเพิ่มแร่ธาตุให้กับดิน ขอให้อดใจรอเมื่อฝนมาแล้วค่อยทำนาปีพร้อมกันในช่วงเดือนพฤษภาคม เพราะจะได้ผลผลิตที่ดีกว่า ลงทุนน้อยกว่าและยังใช้สารเคมีน้อยลง ส่งผลให้พี่น้องทุกคนปลอดภัยจากสารเคมีและมีรายได้ที่ดีมากขึ้นอีกด้วย