กรมการแพทย์พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมครบวงจร

0
259
image_pdfimage_printPrint

โรคสมองเสื่อมเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการผู้สูงอายุ (geriatric syndrome) ที่พบมากขึ้นและกำลังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สําคัญของประเทศ สังคม และครอบครัว เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นตามอายุเฉลี่ยของประชากรที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัวและประเทศชาติ เนื่องจากการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้สร้างความลําบากแก่ญาติและผู้ดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้สาเหตุและกลไกที่แท้จริงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคสมองเสื่อมนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด ถึงแม้จะมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมายก็ตาม อัตราการเกิดโรคนี้ในผู้สูงอายุจะเป็นแบบทวีคูณ โดยพบผู้ป่วยสมองเสื่อมประมาณร้อยละ 1-2 ในประชากรอายุ 60-69 ปี ร้อยละ 8 ในประชากรอายุ 70-79 ปี และร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งของประชากรที่อายุ 85 ปีขึ้นไป

ข้อมูลจาก นพ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธฺิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากรายงานของกลุ่มทำงานด้านสมองเสื่อมในเขตภาคฟื้นเอเชียแปซิฟิก สรุปได้ว่า ในปี 2548 มีผู้ป่วยสมองเสื่อมในภูมิภาคนี้มากถึง 13.7 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 64.6 ล้านคนในอีก 50 ปี ข้างหน้า ในประเทศไทย จำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมในปี พ.ศ. 2559 มีจำนวน 617,000 คน และคาดว่าในปี พ.ศ.2580 จะมีจำนวน 1,350,000 คน (การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ.2557) โรคสมองเสื่อมนอกจากจะทำให้สูญเสียความคิด ความจำ และความสามารถในการงานการตัดสินใจแล้ว ยังพบว่ามีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ดูแลและครอบครัวของผู้ป่วย ในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม 1 คน อย่างครอบคลุมและมีคุณภาพ ต้องใช้ผู้ดูแลอย่างน้อย 2 คน นำมาสู่ปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หากญาติในครอบครัวเป็นผู้ดูแลกันเองจะมีค่าดูแล ประมาณ 4,000-6,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ยังไม่ร่วมค่าใช้จ่ายทางอ้อมของผู้ดูแล เช่น ต้องลาออกจากงานมาดูแล ค่าเสียโอกาส ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของผู้ดูแลและผู้ป่วยเอง

เพื่อเตรียมรองรับปัญหาดังกล่าว นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการ สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ และ ภาคีเครือข่าย จึงได้จัดทำโครงการ“มหกรรมการเตรียมความพร้อมและสร้างเสริมแนวคิดการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมในระดับสังคมของประเทศ” ในปี พ.ศ. 2561 เพื่อสร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและสังคม ให้สามารถช่วยกันดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้สามารถอาศัยอยู่ในชุมชนของตนได้ ร่วมกับจัดทำโครงการ “การพัฒนาระบบการดูแลและบริการผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมครบวงจร” ปีงบประมาณ 2558 – 2564 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมการแพทย์ สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ การสนับสนุนด้านวิชาการจากสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันต่างๆในกรมการแพทย์ และ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย โครงการนี้เป็นการจัดทำระบบการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมแบบครบวงจร การดำเนินการเริ่มตั้งแต่ระบบการคัดกรอง การวินิจฉัย โปรแกรมการพัฒนาศักยภาพสมองสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาความจำบกพร่องระยะแรก (Minimal Cognitive Impairment: MCI) ด้วยโปรแกรม TEAM-V และการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมต่อเนื่องทั้งในสถานบริการและชุมชน ในช่วงแรกเป็นการพัฒนาแนวทางและนำไปทดลองพัฒนาให้เกิดจริงในพื้นที่นำร่องต้นแบบจนสำเร็จใน 4 พื้นที่คือ อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี อำเภอบ้านฝาง จังหวัดของแก่น อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ในปี พ.ศ.2562-2564 จะเป็นการขยายผลไปสู่พื้นที่ใน 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบัน (6 กรกฎาคม พ.ศ.2562) ได้ดำเนินการไปแล้วใน 12 พื้นที่ใน 10 เขตสุขภาพ โครงการนี้จะเป็นโครงการสำคัญในการวางโครงสร้างพื้นฐานระบบการดูแลผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อจากชุมชนสู่สถานบริการสำหรับเรื่องอื่นๆต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ เพื่อลดความเครียดของผู้ดูแลและครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมที่มีความผิดปกติทางพฤติกรรมและสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง จึงได้ร่วมมือกับคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนำการดูแลตามแนวคิดฮิวแมนนิจูด (Humanitude) ซึ่งมีการนำไปใช้ในระดับนโยบายในประเทศญี่ปุ่น โดยมีงานวิจัยรองรับว่าสามารถลดความเครียดของผู้ดูแลและการใช้ยากับผู้ป่วยสมองเสื่อมในการควบคุมพฤติกรรมและอาการที่ไม่พึงประสงค์ลงได้ นอกจากนี้ สถาบันฯ ได้นำโปรแกรม “Aging Health Data” ซึ่งเป็นระบบการคัดกรอง/ประเมินปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและการจัดการข้อมูลสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อสนับสนุนการคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพให้แก่ โรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ และได้นำแอปพลิเคชัน “สูงอายุ 5 G” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ทางสถาบันฯได้พัฒนาร่วมกับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำหรับประชาชนเพื่อตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพผู้สูงอายุเบื้องต้นด้วยตนเอง แอปพลิเคชัน สูงอายุ 5 G ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1. ความรู้ทั่วไป ได้แก่ หนังสือและบทความ ประชาสัมพันธ์ ภาพความรู้ วีดีโอ และลิงค์ที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับความรู้และข่าวสารต่างๆ 2. แบบประเมินพื้นฐาน ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป และข้อมูลภาวะสุขภาพ ประชาชน ผู้สูงอายุ สามารถประเมินตนเองเบื้องต้นได้ 3. แบบประเมินเฉพาะกลุ่มอาการ ได้แก่ ภาวะเปราะบาง ภาวะซึมเศร้า ภาวะสมองเสื่อม ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ภาวะทุพโภชนาการ ฯลฯ โดยสามารถดาวโหลด แอปพลิเคชั่นชันผ่าน App Store และ Play Store บนมือระบบ IOS และ Android ค้นหาคำว่า “ สูงอายุ 5 G”