กรมการท่องเที่ยวโชว์โปรเจกต์พัฒนาสินค้าต้นแบบของที่ระลึก ปลุกกระแส “เสน่ห์เที่ยว-เสน่ห์ไทย”
กรมการท่องเที่ยวโชว์โปรเจกต์พัฒนาสินค้าต้นแบบของที่ระลึก
ชูอัตลักษณ์พื้นถิ่น-ภูมิปัญญา เพิ่มมูลค่า ปูพรม ๑๘ จังหวัด ปลุกกระแส “เสน่ห์เที่ยว-เสน่ห์ไทย”
กรมการท่องเที่ยว ปรับยุทธศาสตร์ขานรับนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ด้วยโครงการพัฒนาสินค้าต้นแบบ ของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว กระตุ้นเที่ยวไทย ชูคอนเซ็ปต์ดีไซน์โดยใช้ทุนวัฒนธรรมผสมผสานเสน่ห์พื้นบ้านสร้าง อัตลักษณ์เพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างงานสร้างรายได้ยั่งยืนให้ชุมชนนำร่อง ๑๘ จังหวัด พร้อมโชว์ฝีมือกว่า ๕๐๐ ผลงาน สุดสร้างสรรค์ครั้งแรกในงานนิทรรศการ “เสน่ห์เที่ยว เสน่ห์ไทย” วันที่ ๒๐ – ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๐ ศกนี้ ณ บริเวณลานแฟชั่นฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
นางสาววรรณสิริ โมรากุล อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่ารัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทยในยุค ๔.๐ (Thailand 4.0) ซึ่งอุตสาหกรรมและ ธุรกิจท่องเที่ยวจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประเทศโดยองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่มีส่วนในการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท่องเที่ยวและวิสาหกิจชุมชน คือ ธุรกิจของที่ระลึก ซึ่งนักท่องเที่ยวมักจะแสวงหาสิ่งที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่นหรืออัตลักษณ์ของสถานที่ที่ไปเยือนจากข้อมูลเบื้องต้นของกรมการท่องเที่ยวพบว่าปี ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน ๓๒,๕๘๘,๓๐๓ คน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘.๙๑ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๘ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้จัดทำ “โครงการพัฒนาสินค้าต้นแบบของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว” เป็นกิจกรรมนำร่องในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ โดยคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยวเป็นกรณีศึกษา ๑๘ แห่ง จาก “๑๒ เมืองต้องห้ามพลาด” “๑๒ เมืองต้องห้ามพลาดพลัส” และสนามบินนานาชาติ ๔ จังหวัด ด้วยการนำเสน่ห์ที่เป็นต้นทุนวัฒนธรรมไทย อัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น และภูมิปัญญาพื้นบ้านมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและพัฒนาสินค้าที่ระลึกให้มีความร่วมสมัยและเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม โดยได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวทั้งสถาบันการศึกษาและภาคประชาชน จำนวน ๑๘ พื้นที่ เพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายและคลัสเตอร์การพัฒนาธุรกิจสินค้าที่ระลึกในพื้นที่ มีแนวทางการออกแบบที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละท้องถิ่น และความหลากหลายของนักท่องเที่ยว เกิดการรวมกลุ่มกันดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าของที่ระลึก และเป็นการสร้างแนวคิด “เสน่ห์เที่ยว-เสน่ห์ไทย” ให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างยั่งยืน
สำหรับผลงานต้นแบบสินค้าที่ระลึกจากพื้นที่กรณีศึกษา ๑๘ แห่ง ซึ่งมีจำนวนกว่า ๕๐๐ ชิ้นงาน จะนำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรกในงาน “เสน่ห์เที่ยว-เสน่ห์ไทย” นิทรรศการแสดงผลงานการพัฒนาสินค้าต้นแบบของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยวใน วันที่ ๒๐ – ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๐ ณ บริเวณลานแฟชั่นฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน พร้อมเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ ถอดรหัส “เสน่ห์เที่ยว-เสน่ห์ไทย” : การออกแบบโดยใช้อัตลักษณ์พื้นถิ่นเพื่อให้โดนใจนักท่องเที่ยว เพื่อให้ความรู้ในการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบอย่างร่วมสมัยและสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวของแต่ละพื้นที่
นางสาววรรณสิริ โมรากุล กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานต้นแบบทุกชิ้นแม้ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์ของกรมการท่องเที่ยว แต่กรมการท่องเที่ยวมีความยินดีที่จะมอบให้เครือข่ายนำไปต่อยอดและขยายผล โดยต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิ์ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยอาจจะมอบสิทธิ์ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและ/หรือ หัวหน้ากลุ่มชุมชนในพื้นที่กรณีศึกษาเป็นผู้นำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนต่อไป รวมทั้งได้จัดทำแฟนเพจ “เสน่ห์เที่ยว-เสน่ห์ไทย” เพื่อนำเสนอรายละเอียดของโครงการพัฒนาสินค้าต้นแบบของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว องค์ความรู้ด้านการออกแบบและภาพผลงานต้นแบบ เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาและประยุกต์ใช้เพื่อสร้างรายได้
กรมการท่องเที่ยวมุ่งมั่นพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวไทยให้ครอบคลุมทุกมิติเพื่อสร้างความยั่งยืนด้วยการเน้นคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม กระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิดและสร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งโครงการพัฒนาสินค้าต้นแบบของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยวจะเปิดมุมมองใหม่และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ตลอดจนยกระดับแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณค่าด้านความทรงจำอีกด้วย”อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าว
นายสักกฉัฐ ศิวะบวร อดีตนายกสมาคมนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าทีมออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาสินค้าต้นแบบของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยวกล่าวว่าพื้นที่กรณีศึกษา ๑๘ แหล่งท่องเที่ยวในโครงการฯประกอบด้วย พื้นที่ใน“๑๒ เมืองต้องห้ามพลาด” จำนวน ๘ จังหวัด ได้แก่ ๑) เขาค้อ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ๒) หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำบ้านนาป่าหนาด ต.เขาแก้ว อ.เชียงคาน จ.เลย ๓) ปราสาทเมืองต่ำบ้านโคกเมือง ต.จระเข้มาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ๔) เกาะพิทักษ์ ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร ๕) เกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ๖) อุทยานแห่งชาติหาดขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ๗) วิสาหกิจชุมชนบ้านรักษ์เขาบายศรี ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี และ ๘) ชุมชนตำบลน้ำเชี่ยว อ.แหลมงอบ จ.ตราด
นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวใน “๑๒ เมืองต้องห้ามพลาดพลัส” จำนวน ๖ จังหวัด ได้แก่ ๑) ชุมชนบ้านพระพุทธบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน ๒) ชุมชนบ้านทุ่งโฮ้ง ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง จ.แพร่ 3) น้ำตกตาดโตน อุทยานแห่งชาติตาดโตน อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ๔) หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จังหวัดที่มีท่าอากาศยานนานาชาติ จำนวน ๔ จังหวัด ได้แก่ ๑) เชียงใหม่ ๒) เชียงราย ๓) สงขลา (หาดใหญ่) และ ๔) ภูเก็ต
“เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีต้นทุนวัฒนธรรมหรือเสน่ห์และภูมิปัญญาที่แตกต่างกัน ทางทีมงานจึงได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลของแต่ละท้องถิ่นและจัดประชุมในรูปแบบของเวิร์คช็อปเพื่อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าที่ระลึกให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวในพื้นที่นั้นๆ หลังจากนั้นจึงเป็นขั้นตอนของการออกแบบและผลิตต้นแบบสินค้า โดยแต่ละพื้นที่มีผลงานออกแบบแห่งละ ๓ คอลเลคชั่น แต่ละคอลเลคชั่นมี ๑๐ รายการ เมื่อรวมกันแล้วมีผลงานต้นแบบกว่า ๕๐๐ ชิ้นงาน” นายสักกฉัฐ ศิวะบวร กล่าว
นางประภาพรรณ ศรีตรัย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมรุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ ชุมชนบ้านทุ่งโฮ้ง จ.แพร่ กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการพัฒนาสินค้าต้นแบบของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยวว่า บ้านทุ่งโฮ้งเป็นชุมชนที่มีจุดเด่นเรื่องการผลิตผ้าหม้อห้อม เป็นภูมิปัญญาไทพวน ซึ่งเป็นบรรพบุรุษ ของคนบ้านทุ่งโฮ้ง จุดเด่นดังกล่าวทำให้การย้อมผ้าหม้อห้อมกลายเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีคณะผู้มาศึกษาดูงาน ต่อมาในระยะหลังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจากยุโรปและญี่ปุ่นเข้ามาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมากจึงต้องปรับรูปแบบสินค้าที่ระลึกให้เหมาะสม สำหรับการเข้าร่วมโครงการพัฒนาสินค้าต้นแบบของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยวนั้น ทางทีมวิทยากรออกแบบได้ใช้จุดเด่นจากวิถีชีวิตของการย้อมหม้อห้อม ผสมผสานกับเทคนิคการย้อมแบบใหม่ และการออกแบบลายใหม่ที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ ซึ่งทางกลุ่มฯ หวังว่าจะมีโอกาสนำต้นแบบเหล่านี้ไปผลิตเพื่อจำหน่ายได้จริง
นางสุรัตนา ภูมิมาโนช ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลน้ำเชี่ยว จ.ตราด กล่าวว่า การที่กรมการท่องเที่ยวเลือกพื้นที่บ้านน้ำเชี่ยวเข้าโครงการพัฒนาสินค้าต้นแบบของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยวจะก่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดและขยายผล ทำให้ทางชมรมฯ ได้นำตราสัญลักษณ์ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวมาพัฒนาเป็นสินค้าของที่ระลึกได้อย่างเป็นรูปธรรม และสินค้าต้นแบบทุกผลงานสามารถตอบโจทย์การท่องเที่ยวในบ้านน้ำเชี่ยวได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีหอยปากเป็ดซึ่งเป็นเสน่ห์และจุดเด่นของบ้านน้ำเชี่ยว และงอบน้ำเชี่ยวที่มีชื่อเสียงเป็น ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาช้านาน ทั้งนี้ หากชุมชนมีโอกาสนำผลงานต้นแบบต่างๆ เหล่านี้ไปผลิตและจำหน่ายเชื่อว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น แลเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น