กรมการท่องเที่ยวเข้ม ยกระดับมาตรฐานกิจกรรมท่องเที่่ยวผจญภัยโหนสลิงเทียบเท่าระดับสากล

0
321
image_pdfimage_printPrint

ข่าวประชาสัมพันธ์

กรมการท่องเที่ยวเข้ม ยกระดับมาตรฐานกิจกรรมท่องเที่่ยวผจญภัยโหนสลิงเทียบเท่าระดับสากล

กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระดมผู้ประกอบการท่องเที่ยวกิจกรรมผจญภัยโหนสลิงทั่วประเทศ เร่งยกระดับมาตรฐานคุณภาพ ความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และการบริการให้เทียบเท่าระดับสากล

นางสาววรรณสิริ โมรากุล อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่ากรมการท่องเที่ยวได้เตรียมยกระดับมาตรฐานกิจกรรมท่องเที่ยวผจญภัยโหนสลิง หรือ Zip – Line ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมอย่างมากของนักท่องเที่ยว โดยจะนำมาตรฐานสากล (Zip-Line Standard) มาใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวประเภทนี้ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจและความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

กรมการท่องเที่ยวได้จัดให้มีการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวผจญภัยโหนสลิงจากทั่วประเทศ ที่โรงแรมโลตัส สวนปางแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจและร่วมกำหนดเกณฑ์ให้เป็นมาตรฐานร่วมกัน และเตรียมส่งร่างมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพการบริการนี้ให้คณะอนุกรรมการมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยและคณะกรรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบตามลำดับก่อน จึงจะประกาศใช้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน

นางสาววรรณสิริ โมรากุล อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า “ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงผจญภัย เนื่องจากกิจกรรมลักษณะนี้กำลังได้รับความนิยมและเป็นนโยบายของนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่เล็งเห็นความจำเป็นในการเพิ่มความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ดังนั้น กรมการท่องเที่ยวในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในด้านการพัฒนายกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว จึงได้ดำเนินการจัดทำมาตรฐานกิจกรรมนี้เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานระดับสากลรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ โดยมุ่งเน้นความปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงการดูแลนักท่องเที่ยว การให้บริการที่ดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความสะอาด ให้ความสะดวกไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว”

ทั้งนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎระเบียบข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สอดคล้องต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเพื่อรองรับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพของรัฐบาล ขณะเดียวกัน การจัดทำมาตรฐานในกิจกรรมนี้ จะเป็นแนวทางในการพัฒนาส่งเสริมและตรวจประเมินเพื่อรับรองมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการ และเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวของผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ ตลอดจนภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวสากล และช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้รับความรู้มีความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานที่ถูกต้องซึ่งจะนำไปสู่การปรับใช้ในการพัฒนากิจการของตนเอง เป็นการเสริมภาพพจน์ที่ดีและส่งผลให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียและระดับสากลในที่สุด

* * * * * * * * * *