1

กรมการท่องเที่ยววางกลยุทธ์รับ AEC ดันท่องเที่ยวชุมชนทั่วประเทศสู่ระดับสากล

กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินหน้าเพิ่มศักยภาพชุมชนท่องเที่ยวทั่วประเทศ รับ AEC แนะกลยุทธ์การตลาด เจาะลึกพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศอาเซียน ปรับสินค้า-บริการ และกิจกรรมการท่องเที่ยวให้สอดรับกับกลุ่มเป้าหมาย พัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารจัดการเพื่อสร้างชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

นางสาววรรณสิริ โมรากุล รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ในภาคส่วนของการท่องเที่ยว โดยได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจัดทำ “โครงการเพิ่มศักยภาพเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน” โดยดำเนินการการอบรมเชิงปฏิบัติการแก่ตัวแทนชุมชนท่องเที่ยวจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และ ภาคใต้ รวม 200 คน

ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชน ไม่ว่าเป็นเรื่องของจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว การบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน การวางกลยุทธ์การตลาด การศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มอาเซียน
การเพิ่มทักษะด้านภาษา ตลอดจนการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อสร้างอัตลักษณ์ที่น่าสนใจ ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคแถบนี้

โดยโครงการดังกล่าวมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจและการบริหารจัดการท่องเที่ยว ตลอดจนองค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาทิ รศ.ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง คณบดีคณะการจัดการการท่องเที่ยว จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รศ.ดร.วีระพล ทองมา คณบดีคณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดร.สัญชัย เกียรติทรงชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอีกหลายท่าน เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และพัฒนาทักษะให้แก่ตัวแทนชุมชนท่องเที่ยวจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

“นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นกลุ่มที่ไม่อาจมองข้ามเพราะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องและผู้คนมีกำลังซื้อ ขณะเดียวกันการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้นถือเป็นเสน่ห์ของการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ดังนั้นโครงการนี้จึงตอบโจทย์ของกระแสการท่องเที่ยวในปัจจุบันได้อย่างตรงจุด เพราะนอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนต่างๆ สามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตของชุมชน มาใช้เป็นทุนในการดำเนินการด้านท่องเที่ยวแล้ว ยังมุ่งเน้นให้ชุมชนท่องเที่ยวได้ศึกษาตลาดและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มประเทศ CLMV อันประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ซึ่งกำลังเติบโต
ทางเศรษฐกิจ กลุ่มประเทศมุสลิม ที่มีวิถีปฏิบัติและวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป อย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน หรือประเทศที่มั่งคั่งทางการค้าอย่าง สิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางกลยุทธ์การตลาด การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน และการสื่อสารที่เข้าถึงนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น อันจะนำมาซึ่งความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่น่าจับตามอง ” นางสาววรรณสิริ กล่าว

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย ชุมชนต่างๆ สามารถนำความรู้และทักษะเกี่ยวกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวไปปรับใช้กับชุมชนท่องเที่ยวของตนเอง ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่านอกจากจะเป็นการพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนให้สอดรับกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในระยะเวลาอันใกล้นี้แล้ว ยังนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอีกด้วย

* * * * * * * * *

เผยแพร่ในนาม กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยบริษัท ซิลเลเบิล จำกัด ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเผยแพร่ข่าว กรุณาติดต่อ คุณสมคิด เจริญศักดิ์โทร. 08 4147 7575 / โทร. 0 2254 6895-7 โทรสาร 0 2650 7738 คุณมนปรียา เฟื่องเดชโทร. 08 9814 4665