(จากซ้าย)
นายจิระวัฒน์ จิตพรหม บริษัท ไบเออร์ ประเทศไทย จำกัด
นางสาววทินี ตันเจริญ บริษัท บีเอเอสเอฟ ไทย จำกัด
นายดนัย เอ้โทบุตร ตัวแทนเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว
นายสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย
นายอรรถวิชช์ วัชรพงษ์ชัย ผู้จัดการโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย
นางสาว นราวดี โหมดนุช บริษัทโอแลม อินเตอร์เนชั่นแนล และ
นางสาวอรทัย โสทะ ตัวแทนเกษตรกรจังหวัดนครสวรรค์
19 กุมภาพันธ์ 2561/ กรุงเทพฯ – กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมสรุปผลการดำเนินงานและความสำเร็จของโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชียหรือ “เบรีย” พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางและนโยบายในการดำเนินงานระยะต่อไป เพื่อขยายความร่วมมือไปยังภาคส่วนอื่นๆ หวังมุ่งเป้าสู่การพัฒนาภาคการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมรามา การ์เดนส์ กรุงเทพฯ
โครงการเบรีย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และมีองค์กรภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ร่วมดำเนินโครงการ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร บริษัทไบเออร์ (ไทย) จำกัด บริษัทบีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด และบริษัทโอแลม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เบรียดำเนินงานอยู่ในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการผลิตข้าวและโภชนาการข้าวด้วยวิธีการแบบองค์รวมห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเสริมสร้างรายได้ของผู้ผลิตและส่งเสริมโภชนาการที่ดีของครอบครัวเกษตรกร
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า “กรมการข้าวมีภารกิจรับผิดชอบด้านการศึกษา วิเคราะห์และเสนอแนะเพื่อจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศ รวมทั้งศึกษา วิจัย ทดลองและพัฒนาเกี่ยวกับพันธุ์เทคโนโลยีการผลิต การอารักขา วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป และมาตรฐานข้าว รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับความร่วมมือกับต่างประเทศในเรื่องข้าว ตัวอย่างเช่น โครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชียหรือเบรีย ถือเป็นความร่วมมือที่กรมการข้าวได้ดำเนินงานกับ GIZ ตั้งแต่ปี 2557
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เราได้ผนึกกำลังร่วมกันดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาการผลิตข้าวเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนจนบรรลุเป้าประสงค์ตามที่วางไว้ โดยในประเทศไทย ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ให้กับเกษตรกรรายย่อยในศูนย์ข้าวชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรเกษตรกรที่กรมการข้าวจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งผลิตข้าวคุณภาพ ให้สามารถนำองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตเพื่อการลดต้นทุนไปสู่การปฏิบัติ เพิ่มผลผลิตและเพิ่มพูนรายได้ อันจะเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังสามารถสร้างโมเดลการเชื่อมโยงตลาดให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวตามมาตรฐานการปลูกข้าวอย่างยั่งยืน (SRP) และแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการทำการเกษตร (GAP) ครอบคลุมศูนย์ข้าว 200 แห่งในจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด และโครงการฯ ยังมีการรณรงค์การผลิตข้าวผ่านสื่อโทรทัศน์รายการซีรีย์ Famers Love ที่ช่วยส่งเสริมการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ปลอดภัย การจัดการดิน เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และการผลิตข้าวที่ยั่งยืนซึ่งออกอากาศระหว่างปีพ.ศ. 2558 – 2560 ตลอดจนได้จัดทำเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อช่วยเกษตรกรลดความสูญเสีย และปรับปรุงคุณภาพข้าว นับว่าโครงการเบรียสามารถพัฒนารูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวไปสู่ชาวนาได้อีกทางหนึ่ง”
นายสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชียหรือเบรีย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “นอกเหนือจากการดำเนินงานในประเทศไทยแล้ว โครงการฯ ยังได้ส่งเสริมการพัฒนาข้าวในประเทศอินโดนีเซีย โดยจัดตั้งศูนย์การผลิตข้าวอย่างยั่งยืนขึ้น 375 แห่งในสองจังหวัด คือ จาวาตะวันออก และสุมาตราเหนือ และมีผู้ประสานงานภาคสนามจำนวน 125 รายที่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน
สำหรับประเทศฟิลิปปินส์ โครงการฯ ได้สนับสนุนเป้าหมายระยะยาวของประเทศที่จะผลิตข้าวเพื่อตอบสนองต่อความมั่นคงด้านอาหารและความสามารถในการแข่งขันระดับโลก และยังฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรในจังหวัดอิโลอิโล เลย์เตใต้และออโรรา ซึ่งจะให้บริการกับเกษตรกรในท้องที่อีกกว่า 8,000 ราย
ในส่วนของประเทศเวียดนาม โครงการฯ ได้ร่วมกับสถาบันนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมและชนบท (IPSARD) และภาคเอกชน ริเริ่มโครงการการปลูกข้าวในนาแปลงใหญ่ที่เป็นมิตรต่อนิเวศวิทยาบนพื้นที่สามจังหวัด คือ ดองทับ เฮาเซียงและเคียนเซียง เพื่อปรับปรุงคุณภาพข้าว เพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่คุณค่า และสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถเข้าถึงตลาดที่มีคุณภาพ
อาจกล่าวได้ว่าใน 4 ประเทศเข้าร่วมทั้งหมด เบรียได้สนับสนุนการจัดฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรมากกว่า 20,000 ราย และช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรถึงร้อยละ10-25 สำหรับประเทศไทยคิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 29,111 บาทต่อครัวเรือนต่อปี นับได้ว่าเบรียประสบความสำเร็จในการผลิตข้าว ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต จัดการทรัพยากรการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกร” สุริยัน กล่าว
พิธีปิดโครงการในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นเวทีระดับภูมิภาคในการรับทราบมุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และถ่ายทอดความสำเร็จ ตลอดจนได้รวบรวมบทเรียนและข้อเสนอแนะร่วมกันในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติและระดับภูมิภาคด้านการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่ความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียนต่อไป
——————————————————
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์กรที่ให้ทุนอื่นๆ GIZ ดำเนินงานอยู่ในประเทศต่างๆ กว่า 130 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานประมาณ 18,000 คน ซึ่งร้อยละ 70 เป็นคนในประเทศ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ปริยา วงศาโรจน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
โทรศัพท์ 02-661-9273 ต่อ 165 โทรสาร 02-661-9273 ต่อ 156
อีเมล pariya.wongsarot@giz.de