กฟก. จับมือ มูลนิธิสายใยแห่งแผ่นดิน และสหกรณ์กรีนเนท ผลักดันเกษตรกรเบนเข็มทำเกษตรอินทรีย์

0
585
image_pdfimage_printPrint

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จัดอบรมหลักสูตรพัฒนาศักยภาพของผู้นำองค์กรเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของ กฟก.เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องเตรียมความพร้อมในการสร้างพลังร่วมขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศโดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิสายใยแห่งแผ่นดิน และสหกรณ์กรีนเนท (GREEN NET) เป็นที่ปรึกษาจัดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาเจ้าหน้าที่ของ กฟก.
นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่า “คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การสนับสนุนโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรใหม่ เพื่อสนับสนุนนโยบายเกษตรอินทรีย์โดยกำหนดให้ต้องเป็น “โครงการเกษตรยั่งยืน เกษตรอินทรีย์” และ “ไม่ใช้สารเคมีในภาคการเกษตร” โดย กฟก.มีเงินสนับสนุนให้กับองค์กรเกษตรกรทั้งแบบให้เปล่าและเงินกู้ยืมขณะนี้ กฟก.มีแผนจะขับเคลื่อนงานด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์แบบตลอดห่วงโซ่ (ผลิตจนถึงตลาด) รวมไปถึงการตรวจรับรองมาตรฐานแบบชุมชนรับรองหรือ PGS(Participatory Guarantee System) ซึ่งเป็นที่ระบบสมาชิกกลุ่มผู้ผลิต/ชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบกันเองจะทำให้ผลิตภัณฑ์ด้านอาหารของเกษตรกรสมาชิก กฟก. มีมาตรฐาน และรู้จักพัฒนาช่องทางการสร้างมูลค่าจากผลผลิต มีตลาดรองรับสินค้ามากยิ่งขึ้น”
สำหรับการจับมือร่วมกันระหว่าง กฟก. มูลนิธิสายใยแห่งแผ่นดินและสหกรณ์กรีนเนทในครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ดี เนื่องจากกรีนเนทเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำหน้าที่ด้านการตลาด เชื่อมประสานระหว่างเกษตรกรในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกกลุ่มธุรกิจชุมชน และผู้บริโภค โดยเน้นการส่งเสริมและเผยแพร่แนวทางเกษตรกรรมอินทรีย์และพัฒนากระบวนการตลาด ทางเลือก สร้างความมีส่วนร่วมของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่งเสริมการผลิตในลักษณะของการรวมกลุ่มธุรกิจชุมชนเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรวบรวมและคัดสรรผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรมโดยดำเนินงานในรูปแบบของศูนย์กระจายสินค้าซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย และในส่วนของ กฟก. ก็เป็นองค์กรที่มีสมาชิกเกษตรกรทำการเกษตรอยู่แล้ว หากมีการพัฒนาและร่วมกันผลักดันให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้สินค้ามีมาตรฐาน มีระบบการบริหารจัดการที่ดี เกษตรกรตระหนักถึงผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม สร้างระบบห่วงโซ่อาหารที่มั่นคงยั่งยืนได้ นายสมยศ กล่าว