กทปส. ส่งเสริมนักวิจัยไทย สร้าง “นิทรรศการแนว Interactive เจาะลึกเบื้องหลังการเดินทางของบิต” แนะเหมาะกับเยาวชนไทยยุคดิจิทัล พร้อมเปิดให้เข้าชมฟรี ! ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ชั้น 4 อาคารจามจุรีสแควร์

0
299
image_pdfimage_printPrint

ในปัจจุบัน การสื่อสารแบบดิจิทัล (Digital communications) นับเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานของระบบสื่อสารและสารสนเทศ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แต่ประชาชนทั่วไป รวมถึงเยาวชน มักมองการสื่อสารแบบดิจิทัลว่าเป็นสิ่งที่ลึกลับซับซ้อน และยากที่จะเข้าใจ ทั้งนี้เนื่องจากความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบสื่อสารแบบดิจิทัลนั้น จัดเป็นวิชาเฉพาะทางสำหรับนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ส่วนผู้ที่สนใจศึกษาด้วยตนเองจากการอ่าน มักจะพบว่าเนื้อหาเข้าใจยาก เนื่องจากการทำงานของระบบสื่อสารนั้นเกี่ยวข้องกับการส่ง รับ และประมวลผลสัญญาณสื่อสาร ซึ่งบ่อยครั้งไม่สามารถมองเห็น หรือสัมผัสได้ การจัดทำนิทรรศการเชิงปฏิสัมพันธ์ (Interactive) จึงเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสื่อสารแบบดิจิทัล

นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการ กทปส. เปิดเผยว่า “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. จึงพร้อมเดินหน้าสนับสนุนการจัดแสดงนิทรรศการ ‘การเดินทางของบิต: เทคโนโลยีการสื่อสารเบื้องหลังชีวิตดิจิทัล’ (หรือ Journey of Bits) ซึ่งเป็นผลงานภายใต้โครงการศึกษาวิจัย “การพัฒนานิทรรศการเชิงปฏิสัมพันธ์เรื่องการสื่อสารแบบดิจิทัล” โดยมี รศ. ดร. ภูมิพัฒ แสงอุดมเลิศ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่งการจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ มุ่งสร้างแรงกระตุ้นให้กับเยาวชน และผู้ที่สนใจ ได้มีโอกาสศึกษาและเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารแบบดิจิทัลในรูปแบบ Interactive Exhibition พร้อมทั้งได้ทดลองส่งข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ อาทิ สายทองแดง เส้นใยนำแสง และสายอากาศแบบไร้สาย ได้ร่วมทดลองส่งข้อมูลรูปแบบต่างๆ เช่น ข้อความตัวอักษร เสียง ภาพนิ่ง และวิดีโอ ซึ่งจะได้เห็นและได้ยินสัญญาณการสื่อสารต่างๆ ฯลฯ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและนำความรู้ความเข้าใจนี้ไปต่อยอดและพัฒนาประเทศในด้านระบบการสื่อสารโทรคมนาคม และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง”

รศ. ดร. ภูมิพัฒ แสงอุดมเลิศ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า “ปกติบิตข้อมูลและสัญญาณสื่อสารเป็นสิ่งที่ผู้ใช้มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ ฉะนั้นการจัดสร้างนิทรรศการ “การเดินทางของบิต” จึงเน้นการนำเสนอชิ้นงานเชิงปฏิสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสกับบิตข้อมูล สัญญาณสื่อสาร และระบบสื่อสารสาธิต เพื่อหวังให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยเนื้อหาในนิทรรศการจะแบ่งออกเป็นโซนๆ โดยจะเริ่มจากความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น คุณสมบัติของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รูปสัญญาณเชิงเวลา และเชิงความถี่ เป็นต้น จากนั้นจะเป็นการแสดงสัญญาณพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น สัญญาณปิดเปิดสำหรับบิตข้อมูล และสัญญาณคลื่นพาห์ โดยจะแสดงรูปสัญญาณทางจอภาพ ป้อนสัญญาณเข้าสู่ลำโพงเพื่อนำเสนอด้วยเสียง และป้อนสัญญาณเข้าสู่หลอดไฟส่องสว่างเพื่อนำเสนอด้วยแสง เป็นต้น เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสสัญญาณต่างๆ ได้ ในส่วนสุดท้าย จะอนุญาตให้ผู้เข้าชมได้ทดลองส่งข้อมูลผ่านระบบสื่อสารสาธิต เช่น ข้อความที่พิมพ์และเสียงที่อัด เป็นต้น

สำหรับนิทรรศการ ‘การเดินทางของบิต: เทคโนโลยีการสื่อสารเบื้องหลังชีวิตดิจิทัล’ เหมาะสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา ที่กำลังเรียนรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงผู้ที่สนใจทั่วไป โดยได้เปิดให้เข้าชมฟรี! ตั้งแต่วันนี้ – กันยายน 2560 ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี สแควร์ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2160 5356 เว็บไซต์ www.nsm.or.th หรือ FACEBOOK : NSMthailand