1

กทปส. สนับสนุนทุนวิจัย “มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ” มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้บกพร่องทางการได้ยิน พัฒนาต่อยอดโครงการระบบถอดความเสียงพูด

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการพูดคุยสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน แต่สิ่งนี้เองกลับเป็นอุปสรรคหนึ่งในการเรียนการสอนของผู้บกพร่องทางการได้ยิน ลองนึกถึงผู้ด้อยโอกาสที่พิการทางการได้ยินว่าจะเข้าใจการสื่อสารและเข้าถึงการเรียนรู้ต่างๆ จากการถ่ายทอดจากคนปกติได้อย่างไร โดยในประเทศไทยพบว่ามีจำนวนผู้พิการทางการได้ยินหรือการสื่อความหมายสูงถึง 306,351 ราย จากจำนวนผู้พิการทั้งหมด 1,690,411 ราย* ซึ่งนับว่ามีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว (*แหล่งข้อมูลทะเบียนกลางคนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เดือนพฤศจิกายน 2559)

ด้วยเหตุนี้ กทปส. หรือสำนักงานกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. จึงพร้อมเดินหน้าสนับสนุนเงินทุนให้แก่มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการเพื่อนำไปพัฒนา “โครงการวิจัยระบบถอดความเสียงพูดแบบทันต่อเวลาผ่านระบบสื่อสารทางไกล” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ กทปส. ที่มุ่งสนับสนุนโครงการวิจัยในด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส เพื่อความเท่าเทียมกันในการรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีด้านการใช้คลื่นความถี่ หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ

ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสื่อสารในกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน จึงได้มีแนวคิดริเริ่มโครงการวิจัยระบบถอดความเสียงพูดแบบทันต่อเวลาผ่านระบบสื่อสารทางไกล ได้เปิดเผยว่า “เงินกองทุนจัดสรรของ กทปส. ที่สนับสนุนโครงการนี้ ทางมูลนิธิฯ ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้วิจัยและพัฒนาโปรแกรมเทคโนโลยีทางการสื่อสาร รวมถึงศึกษาการเชื่อมต่อระบบการสื่อสารทางไกลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยโปรแกรมถอดเสียงนี้จะช่วยเปลี่ยนระบบเสียงพูดให้เป็นข้อความ ช่วยให้ผู้พิการทางการได้ยินกว่า 300,000 คนสามารถเข้าถึงการเรียนการสอน การประชุมสัมมนาต่างๆ โดยมุ่งเน้นด้านการศึกษาเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินสามารถเข้าใจการเรียนการสอน รวมถึงข้อมูลข่าวสารได้เท่าเทียมกับคนปกติทั่วไปได้”

ดร. อนันต์ลดา โชติมงคล นักวิจัย NECTEC และในฐานะนักวิจัยผู้ร่วมโครงการวิจัยระบบถอดความเสียงพูดแบบทันต่อเวลาผ่านระบบสื่อสารทางไกล กล่าวว่า “โครงการวิจัยนี้ เป็นการนำเทคโนโลยีทางโทรคมนาคมในการส่งสัญญาณเสียงไปถอดความ มีการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบสื่อสารทางไกลโดยได้ลงโปรแกรมถอดเสียงทั้งบนระบบวินโดส์บนคอมพิวเตอร์ในปีแรก โดยในปีนี้ ทีมนักวิจัยกำลังพัฒนาต่อยอดเพื่อนำโปรแกรมถอดความเสียงมาใช้ในระบบปฏิบัติการแอนด์ดรอยเพื่อใช้งานบนมือถือ จากนั้นต้องมีการทดลองใช้งานและนำมาพัฒนาปรับปรุงแอพพลิเคชั่นเป็นลำดับต่อไป ปัจจุบันนี้ มูลนิธิฯ ได้มีแนวทางจัดตั้งเครือข่ายหรือศูนย์ Call Center ซึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่มีทักษะในการถอดความเสียงประจำอยู่ โดยเครือข่ายนี้นับเป็นศูนย์กลางในการจัดส่งข้อความไปยังระบบสื่อสารทางไกลตามสถานที่ต่างๆ ทำให้ช่วยประหยัดเวลาและงบประมาณในการเดินทางของเจ้าหน้าที่ถอดเสียง และยังสามารถใช้งานได้พร้อมกันหลายๆ แห่งอีกด้วย”

ดร. อนันต์ลดา กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการทดสอบประเมินผลการดำเนินงานของโครงการในช่วงปีที่ผ่านมา ยังประสบกับปัญหาเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ไม่เสถียรเป็นบางช่วง ทำให้ช่วงเวลานั้นไม่สามารถถ่ายทอดข้อความได้ทันต่อเวลา ซึ่งเป็นผลจากการทดสอบโครงการในงานประชุมวิชาการของเนคเทค และในห้องเรียนของวิทยาลัยราชสุดา ซึ่งในส่วนนี้อาจจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งนี้ โครงการฯ ยังคาดหวังว่าหากทีมวิจัยได้พัฒนาระบบถอดความเสียงสำเร็จถึงขั้นพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นแล้ว ก็ยังต้องการความร่วมมือและสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของบุคลากรที่ต้องเข้าฝึกอบรม ผู้รับผิดชอบดูแลโครงการเครือข่าย ทีมบำรุงรักษาและดูแลระบบบนวินโดส์ และบนแอพพลิเคชั่น รวมถึงทีมเทคนิคที่ต้องคอยแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น สำหรับในต่างประเทศได้ให้ความสำคัญและมีเงินสนับสนุนโครงการในลักษณะดังกล่าว รวมถึงมีสวัสดิการที่ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการอย่างเป็นระบบ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน เป็นต้น”