1

ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” (FutureTales Lab by MQDC) เผยผลการศึกษา 10 เทรนด์สังคมไทย หลังพ้นวิกฤติ COVID-19

• MQDC จัดตั้งศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาแห่งแรกของภูมิภาคอาเซียน ภายใต้ชื่อ “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” (FutureTales Lab by MQDC) พร้อมส่งต่อประโยชน์สู่สังคม

• ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC) มุ่งเป็นศูนย์วิจัยแห่งอนาคตเชิงรุก เพื่อจับเทรนด์ที่สำคัญ วิเคราะห์ข้อมูลและส่งต่อให้ภาครัฐและเอกชน เตรียมความพร้อมทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

• ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC) เผย 10 เทรนด์สังคมอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น หลังพ้นภาวะวิกฤติ COVID-19 เพื่อเตรียมรับมือและพร้อมที่จะปรับตัวกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

20 เมษายน 2563, กรุงเทพฯ – การระบาดของโรค COVID-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ก่อ
ให้เกิดผลกระทบในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมไปถึงวิถีการดำรงชีวิตของคนในสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างมาก คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือ การดำเนินชีวิตของคนในสังคม หลังพ้นวิกฤติครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” (FutureTales Lab by MQDC) หรือ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ภายใต้บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) พาร่วมหาคำตอบผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบและรวบรวมข้อมูลของสังคมในอนาคตมาเป็น 10 เทรนด์ที่น่าสนใจ เพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือในทุกการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เปิดเผยว่า “MQDC เล็งเห็นถึงความสำคัญเทรนด์ใหม่ๆ และการคาดการณ์สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคต เพื่อให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชนสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาและออกแบบแนวนโยบาย แผนการรับมือเชิงรุก ตลอดจนการพัฒนาที่อยู่อาศัย รวมถึงผลิตภัณฑ์ และบริการที่ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตของคนในอนาคต บนพื้นฐานของแนวคิด ‘For All Well-Being’ หรือ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับสรรพสิ่งบนโลกอย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของจัดตั้งศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาแห่งแรกของภูมิภาคอาเซียน ภายใต้ชื่อ “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” (FutureTales Lab by MQDC)

ด้าน ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย MQDC ได้หยิบยกประเด็นสำคัญ นำมาวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือ Web of Impact โดยทีมวิจัยของฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ให้เห็นถึงผลกระทบสังคมในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น หลังพ้นภาวะวิกฤติ COVID-19 ซึ่งสามารถสรุปเป็น 10 เทรนด์ที่สังคมไทย ที่ควรจะตั้งรับ ทั้งในแง่มุมพฤติกรรมการใช้ชีวิต การอยู่อาศัย การใช้เทคโนโลยี การเดินทาง และการดูแลสุขภาพ ตลอดจนแนวโน้มของนโยบายภาพใหญ่ของรัฐบาล ได้แก่

1. Social Structure โครงการสร้างของสังคมใหม่ๆ ที่จะมีการออกกฎหมายที่ใช้ร่วมกันทั่วโลก เป็นกฎหมายเดียวกันที่ช่วยในเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงการเข้ามาของเทคโนโลยี IOT Infrastructure และระบบต่างๆ ทำให้คนเข้ามาสนใจมากยิ่งขึ้น อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างของสังคมใหม่ก็คือ ผู้คนจะให้ความสำคัญต่อสุขภาพ และความเป็นอยู่มากยิ่งขึ้น โดยจะยอมให้ข้อมูลส่วนตัว (privacy) เพื่อที่จะปกป้องสุขภาพ และทรัพย์สินของตัวเองและครอบครัวมากยิ่งขึ้น

2. Resilience & Agile by Force แม้ว่าในอนาคตหลังวิกฤติ COVID-19 ความเชื่อมั่นและความเชื่อใจในระดับบุคคลจะลดน้อยลง แต่ความร่วมมือระหว่างองค์กรและอุตสาหกรรมจะมีมากขึ้น ซึ่งภาครัฐจะใช้เวลาปรับตัวมากที่สุดและจะถูกปรับเปลี่ยนมากขึ้น เช่น กฎหมายพื้นฐาน การประชุมอย่างถูกกฎหมายผ่านทางออนไลน์ เป็นต้น วิกฤติครั้งนี้อาจเป็นการล้างไพ่ทางเศรษฐกิจในทางบวก คือรัฐและองค์กรธุรกิจสามารถใช้โอกาสนี้ในการจัดการเรียนผ่านออนไลน์ฟรี ให้กับแรงงาน หรือการกำหนดระเบียบการทำงานที่ลดการใช้ทรัพยากรได้มากขึ้น

3. Global Emotional Crisis & Touchless Society คือ วิกฤติทางอารมณ์ของคนเมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบากในสถานการณ์ที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้แบบเดิมๆ นำไปสู่การสูญเสียสมดุลทางความคิดและอารมณ์ อาทิ เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมา จากเดิมมีวิธีการทักทายแบบจับมือหรือกอด แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ทำให้ไม่สามารถทำได้ ทำให้การปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพมีระยะห่างกันออกไปเรื่อยๆ ส่งผลในเรื่องของอารมณ์ในแง่ของความใส่ใจ และความห่วงใยในอนาคต อย่างวัยทำงานที่นิยม Co – Working Space ก็อาจจะมีปรับพื้นที่ในรูปแบบ Sharing Space With Boundary หรือ มีการแบ่งแยกพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น และการออกแบบพื้นที่บริการแบบไม่ต้องสัมผัส แต่ใช้ voice recognition หรือ AR แทน

4. Public Space / Indoor Technology with Health Factor จากความไม่เชื่อมั่นและความวิตกกังวลในเรื่องความไม่ปลอดภัยในเวลาที่ต้องออกไปยังพื้นที่สาธารณะต่างๆ ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในด้านนี้ อาทิ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ต้องมีการวางแผนรับมือ และสร้างเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น การวางระบบฆ่าเชื้อสำคัญเหมือนการวางระบบแอร์ น้ำ ไฟ มีการกำหนดมาตรฐานระบบ clean air quality ในอาคาร

5. Prioritizing Space Over Convenience คือ วิถีความคิดของผู้บริโภคในแง่การซื้อที่อยู่อาศัยจะเปลี่ยนไป เพราะที่ผ่านมาทุกอย่างจะรวมตัวกันอยู่ในกลางเมือง โดยยึดเอาแนวเส้นการเดินทางที่ใกล้รถไฟฟ้าเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อ แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการทำงานในอนาคต สามารถทำงานที่บ้านได้ อาจจะไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ทำงานทุกวัน จึงอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกที่อยู่อาศัย ไม่จำเป็นต่ออยู่ในเมือง หรือ อาศัยในคอนโดมิเนียมขาดเล็กกลางใจเมืองต่อไป แต่อาจปรับเปลี่ยนเป็นบ้านนอกเมือง แต่มีพื้นที่มากขึ้น มีสวน การปรับเปลี่ยนบ้านพักตากอากาศ (vacation home) มาใช้อาศัยประจำแทน

6. Everything At Home หรือที่เรียกว่า เศรษฐกิจติดบ้าน อันเนื่องมาจากสถานการณ์โรคระบาด ทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป เริ่มเคยชินกับการอาศัยอยู่ในบ้าน ทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ ภายในที่พักอาศัยของตนเอง ส่งผลต่อความต้องการที่พักอาศัยที่อาจจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่สามารถอาศัยในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กได้ แต่ขณะนี้อาจจะไม่เพียงพอ และต้องการมีพื้นที่ที่สามารถทำอะไรได้หลายหลากมากยิ่งขึ้น อย่าง คอนโดมิเนียม ก็ต้องมีพื้นที่สำหรับการทำอาหาร พื้นที่ทำงานและออกกำลังกายได้ในขณะเดียวกัน

7. Proactive Healthcare Platform จากเหตุการณ์โรคระบาด COVID-19 ทำให้แพลทฟอร์มการดูแลสุขภาพและการป้องกันความเจ็บป่วยนั้นมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โครงสร้างพื้นฐานของเมือง อาคาร บ้านจะต้องมีบริการและแพลตฟอร์มสุขภาพและสุขภาพจิตเป็นบริการพื้นฐาน

8. Last mile & next hour logistic ด้วยพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลง จะทำให้ระบบการขนส่งระยะสั้นแบบ 1 กิโลเมตร และการจัดส่งแบบรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง จะเป็นที่ต้องการ และความสำคัญมากยิ่งขึ้น

9. Wearable Device – Prioritizing Health & Safety Over Privacy คือ การเติบโตของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ ซึ่งผู้บริโภคจะยอมให้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อแลกกับความปลอดภัยที่มีมากยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เจาะลึกถึงข้อมูลมากยิ่งขึ้น สามารถดูได้ว่า ณ วันนี้ สถานที่ที่เราอยู่ ณ ตรงนี้ มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเป็นประเด็นในเรื่องของความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว

10. Super Food & Food Supply Chain Transparency To Personal Food Supply โดยส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะรับประทานอาหารเพื่อความอร่อย และเป็นการเข้าสังคมรูปแบบหนึ่ง แต่หลังจากนี้ ผู้บริโภคจะเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น ต้องการความมั่นใจมากขึ้นว่าสินค้าที่จะนำมาปรุงอาหารต้องมีมาตรฐาน ปลอดภัย และมีความสะอาด รวมถึงผู้บริโภคบางส่วนเองเริ่มมีการทำฟาร์มขนาดเล็กในเมืองมากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้ก็คือ 10 เทรนด์สังคมในอนาคตที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปหลังพ้นภาวะวิกฤติ COVID-19 ซึ่ง
“ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” เชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อสังคมทุกภาคส่วน ในการเตรียมรับมือและพร้อมที่จะปรับตัวกับ The Next Normal หรือ ความปกติในรูปแบบใหม่ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังพ้นวิกฤติครั้งนี้ ดร.การดี กล่าวทิ้งท้าย